Tony Ray-Jones ตำนานช่างภาพสตรีทฝั่งอังกฤษที่มีชีวิตแสนสั้น ช่วงเวลาที่เขาเข้าสู่วงการสตรีทจริงๆแล้วเป็นเพียงช่วง 10 ปีเท่านั้นเอง และยิ่งงานที่ดังๆของแกด้วยแล้ว (ตอนอยู่ที่อังกฤษ) แค่ราวๆปี 1966 ถึง 1969 เท่านั้นเอง แต่กลับเป็นช่วงเวลาอันแสนยิ่งใหญ่ เขาเสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมียในปี 1972 ตั้งแต่อายุเพียง 30 ปี
งานของท่านโทนี่เป็นแรงบันดาลใจหรือแม้แต่เป็นสไตล์ที่ชัดเจนให้ช่างภาพสตรีททางฝั่งอังกฤษจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นบรมครูสตรีทสายอังกฤษ เช่น Martin Parr ( โปรเจค The Non-Conformists ของเขาซึ่งเป็นงานในยุคแรกนี่แทบจะเป็นการสานต่อของท่านโทนี่โดยตรงเลย ) , Matt Stuart , Paul Russell เป็นต้น
จุดสำคัญที่อยากเขียนถึงอยู่ตรงกระดาษโน้ตของท่านโทนี่นี่แหล่ะ แกได้เขียนโน้ตเอาไว้หน้าหนึ่งเพื่อเตือนตัวเองในระหว่างการถ่ายงานสตรีท ซึ่งกระดาษโน้ตนี้กลายเป็นตำนานบทเรียนที่สำคัญของชาวสตรีททั้งมวลไปแล้ว (เจ้าโน้ตตัวจริงนี้จะไปแสดงในนิทรรศการเคลื่อนที่ Only in England by Tony Ray-Jones and Marin Parr ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดไปเรื่อยๆมากว่า 3 ปีแล้ว และ…โคตรน่าดูมากกกก มีไปถึง Contact Sheet ของท่านโทนี่ให้ดูเลยทีเดียว)
ลองมาอ่านกันสิว่า สิ่งที่ท่านโทนี่จดไว้ สอนอะไรชาวเนิร์ดอย่างพวกเราบ้าง?
- ลุยเข้าไปเลยสิ๊ : เข้าใจว่าหลายๆครั้ง ชาวสตรีทเมื่อต้องออกรอบนานๆก็มีความเหนื่อยล้า และก็อาจจะไม่มีพลังในการรุกเข้าไปหา Subject เท่าไหร่ นั่นทำให้ภาพเราหมดพลังได้ ดังนั้น เราต้องกระตุ้นตัวเองให้ตื่นกันหน่อย ฮีบๆ!
- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนซะบ้าง : แม้ว่าส่วนใหญ่ ชาวสตรีทเราจะใช้วิธีขโมยจังหวะสำคัญของชาวบ้านที่น่าสนใจไม่ให้เขารู้ตัว และเรามักไม่ได้พูดคุยกับใครนักหรอก แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับเขาบ้างจะช่วยให้การออกรอบของเรา ไม่น่าเบื่อและเรียนรู้เรื่องราวๆอื่นๆเพิ่มมากขึ้นด้วย
- อดทนจดจ่อกับสิ่งที่เราสนใจ : เมื่อเราพบ Subject หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจ หลายๆครั้งเราต้องอาศัยความอดทนรอคอยให้เกิดอะไรขึ้น หรือเฟรมที่สวยๆ (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ได้) ดังนั้น คุณสมบัติชาวสตรีทที่ดีคือ อดทนเข้าไว้! และจับตาดูให้ดี อย่าให้คลาดสายตา
- อย่าคิดอะไรยากไป ถ่ายง่ายๆสิ : รูปที่ดีจริงๆแล้วมันไม่ได้ซับซ้อนอะไรหรอก มองหามันด้วยใจว่างเปล่า “Take Simpler Picture” ท่านโทนี่ว่าไว้
- สร้างความเชื่อมโยงระหว่างฉากหลังและ Subject : การถ่ายสตรีทที่ดีคือภาพนั้นควรเล่าเรื่องอะไรได้มากมาย เสมือนหนังฉากหนึ่ง เมื่อเราเห็นฉากหลังที่น่าสนใจ หรือ Subject ที่น่าสนใจ สิ่งที่สำคัญคือลองมองออกมาให้กว้างขึ้น ดูว่ามันมีเรื่องราวอะไรที่เชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันได้ นั่นจะทำให้เราได้ภาพที่น่าสนใจขึ้น
- ลองจัดวางองค์ประกอบหลายๆแบบ เปลี่ยนดูหลายๆมุม : เมื่อเราเห็นช็อตดีๆแล้ว และเราได้กดถ่ายไปแล้ว อย่าหยุดแค่นั้น! ลองคิดต่างจากเดิมออกไปดู เปลี่ยนองค์ประกอบมันซะใหม่ เปลี่ยนมุมดูใหม่ ถ่ายไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะไม่รู้สึกอะไรกับเฟรมนั้นแล้ว
- ใส่ใจเรื่ององค์ประกอบให้มากขึ้น : องค์ประกอบภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก การจัดองค์ประกอบให้สวยงามเป็นส่วนประกอบใหญ่ที่จะทำให้ภาพนั้นดีหรือไม่ดี น้ำหนักภาพอะไรสำคัญ อะไรรอง บาลานซ์ดีหรือยัง มีอะไรซ้อนกันหรือเปล่า ดังนั้น…จงอย่าชุ่ยกับมัน แม้เราจะมีเวลาตัดสินใจเพียงน้อยนิดก็ตาม
- อย่าถ่ายอะไรที่มันน่าเบื่อๆ : ท่านโทนี่คงหมายถึงว่า อย่าถ่ายอะไรที่ใครๆก็ถ่ายได้ ภาพที่ใครเห็นก็ต้องถ่าย หรืออาจจะเคยมีคนถ่ายไปมากมายแล้ว ชาวสตรีทเราจะไม่ถ่ายอะไรแบบนั้นนะ…
- เข้าใกล้อีก! : ท่านโทนี่ได้เขียนไว้ว่าใช้เลนส์ 50mm. แต่นั่นก็แล้วแต่คนถนัด จริงๆแล้วชาวสตรีทมักจะใช้เลนส์กว้าง 35mm. หรือกว้างกว่า ในความหมายคือ หลายๆครั้ง เราอาจจะถ่ายภาพที่ยังไม่ใกล้พอ นั่นทำให้ภาพที่ออกมาดูธรรมดาแสนธรรมดา (นึกถึงภาพครอบครัวที่เรามักใกล้กว่าคนแปลกหน้า นั่นก็ทำให้มันดูดีกว่า) การเข้าใกล้ในจังหวะที่ควรเข้าใกล้ เป็นสิ่งสำคัญของชาวสตรีท
- โปรดระวังกล้องสั่น : อย่างน้อยที่สุดควรปรับความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่ 1/250 sec ตามที่ท่านโทนี่ว่าไว้ แต่ในยุคนี้ กล้องดิจิมันไปไกลมาก รูรับแสงก็ได้แคบแม้ในแสงน้อยเพราะ ISO ไปได้สูงโคตร ความเร็วชัตเตอร์ก็ไวมาก โฟกัสก็โคตรไว แถมด้วยระบบกันสั่น 5 แกน
- อย่าได้พลาดอีกล่ะ!
- อย่าถ่ายเยอะเกินไป : เอ๊ะ..เอายังไง บางคนก็บอกให้ถ่ายเยอะ นี่บอกให้ถ่ายน้อย ท่านโทนี่หมายถึงว่า ให้เราตั้งใจกับเฟรมๆนั้นให้ดีว่ามันน่าสนใจพอหรือเปล่า และถ้ามันน่าสนใจพอ ก็ตั้งใจกดในจังหวะที่เหมาะสม การกดไปเรื่อยๆเปื่อยๆจะทำให้เราเคยตัว หรือชุ่ยนั่นเอง
- อย่าถ่ายแต่เฉพาะระดับสายตา : โดยปกติแล้ว เวลาเราเดินๆเจออะไรก็มักจะรีบกดจากระยะที่เรายืน หรือระยะระดับสายตา จากข้อ 6 ท่านโทนี่ได้กล่าวไว้แล้ว ลองหามุมอื่นๆดูบ้าง เช่น ย่อเข่าลงหน่อยสิ๊ (อันนี้เป็นสิ่งที่เราลองทำก่อนเลย) หรือก้มแม่งลงไปเลย การย่อๆเขย่งๆ เราอาจจะได้ภาพที่น่าสนใจขึ้นก็เป็นได้
- อย่าถ่ายในระยะกลางๆ : ระยะกลางๆหมายถึงระยะสัก 3-5 เมตร ใช่ว่ามันจะไม่ดีนะ แต่การถ่ายระยะกลางมักจะได้ภาพที่เฉยๆ สังเกตว่าภาพสตรีทที่ดี มักจะใกล้ Subject หรือไม่ก็อยู่ไกลๆเพื่อเห็นภาพกว้าง แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่ามันจะไม่ดีเสมอไป ท่านโทนี่น่าจะเอาไว้เตือนตัวเองเป็นหลัก