จริงๆแล้ว ข่าวนี้อาจจะเป็นที่รู้กันไปทั่วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาที่ผ่านมา เพราะกลายเป็นประเด็นหนักหน่วงและช็อคของวงการถ่ายภาพ แต่วันนี้เราจะลองมาสรุปให้ฟังกันสั้นๆกันหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เหตุเกิดเมื่อภาพบนบล็อกของ Steve McCurry ช่างภาพ Magnum ระดับโลกที่โด่งดังจากภาพถ่ายงานสารคดีมากมายมากว่า 40 ปี ยอดขายหนังสือภาพของเขาขึ้นสู่ Best Seller ถ้าจะเป็นที่รู้จักอย่างแน่นอนของทุกคนก็คงไม่พ้นภาพพอร์ทเทรตของเด็กหญิงชาวอัฟกันที่ตีพิมพ์ใน National Geographic

ถูกพบโดย Paolo Viglione ว่ามีความแปลกประหลาดในภาพ เนื่องจากมีงานของ Steve ไปโชว์ที่อิตาลี และเขาก็ได้สังเกตเห็นความผิดปกตินั้น และได้โพสลงในบล็อกของตัวเองเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา แบบที่ไม่ได้ตั้งใจจับผิด แต่เห็นว่าเป็นเรื่องตลกเท่านั้น
แต่จากจุดนี้ เวบไซด์ PetaPixel เอาไปสืบต่อและเขียนเป็นบทความเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่มีคนแชร์เป็นหมื่นๆครั้งในเวลาอันรวดเร็วจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

แม้ว่าจะไม่มีการตอบโต้จาก Steve อย่างเป็นทางการในตอนแรก เนื่องจากเขาอยู่ในระหว่างเดินทางไปทำงานในแอฟริกา แต่ก็มีสารที่ฝากไว้กับทางทีมงานของเขาเป็นใจความสำคัญที่ว่า เขาเป็นเพียงผู้ถ่าย ขั้นตอนต่างๆหลังจากนั้นมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความผิดพลาด และเขาได้ปรับปรุงระบบในสตูดิโอเขาไปแล้ว
มีการกล่าวโทษไปที่ผู้ช่วยในแลปของเขาที่เป็นผู้ปริ๊นท์งานที่แสดงในอิตาลี และเขาได้ไล่ออกไปแล้วจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ซึ่งในเวลาต่อมา ก็มีการขุดคุ้ยภาพของ Steve McCurry ครั้งใหญ่จากคนทั่วไป จนพบการตกแต่งภาพอีกหลายภาพ จนทาง Magnum ต้องปลดภาพต้นฉบับออกไปจากเวบไซด์เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบภาพอีก และยังไม่มีการแถลงจาก Steve หรือ Magnum

เมื่อปี 2003 Brian Walski ช่างภาพข่าวที่มีปัญหาลักษณะคล้ายๆกัน แต่รุนแรงกว่ามาก เมื่อเขาตัดต่อภาพข่าวของตัวเองสำหรับขึ้นปก Los Angeles Times นั่นทำให้เขาโดนไล่ออก และยังมีอีกหลายเคสทั้งของ Reuters เองก็ตาม
จากประเด็นนี้ ทำให้วงการช่างภาพข่าวเกิดความไม่พอใจต่อ Steve เป็นอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวพันกับจรรยาบรรณของการเสนอข่าว ที่ควรตั้งอยู่บนความแม่นยำ ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน และมีการพูดคุยถึงความเหมาะสมในการตกแต่งภาพในจุดที่ยอมรับได้ รวมไปถึงมองย้อนกลับไปถึงงานคลาสสิคของเขาหลายๆภาพว่ามีการ “เซ็ต” ขึ้นมาหรือเปล่า?
ทางผู้ใกล้ชิดของ Steve พยายามออกมาตอบโต้แทนในประเด็นความเป็นช่างภาพข่าว โดยให้เหตุผลว่า Steve นั้นอายุมากแล้ว แม้ว่าจะผ่านงานภาพข่าวมามากมาย รวมไปถึงในสนามรบต่างๆแต่ปัจจุบันก็ไม่ใช่ช่างภาพข่าวแล้ว ที่ผ่านมาเขาก็ทำงานเป็นช่างภาพในหลากหลายรูปแบบ จึงไม่ควรวัดเขาด้วยมาตรฐานความเป็นช่างภาพข่าวเพียงอย่างเดียว
และ Steve ให้สัมภาษณ์กับ TIME ในทิศทางเดียวกันที่ก่อนหน้านี้ คนใกล้ชิดพยายามพูดคล้ายๆกันนั่นคือ พยายามชี้แจงว่าคนทั่วไปมักพยายามให้เขาจัดอยู่ในช่างภาพข่าว แต่จริงๆแล้วเขาเป็น “นักเล่าเรื่องด้วยภาพ” (Visual Storyteller) และบอกต่อว่าที่ผ่านมา เขาเป็นเพียงฟรีแลนซ์ที่รับจ้างทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ , นิตยสาร , แหล่งข่าวต่างๆ
มีการแสดงทัศนะมากมายจากช่างภาพมืออาชีพทั่วโลก ซึ่งปัญหาสำคัญที่หลายๆคนพูดถึงและน่าสนใจมาก นั่นคือ “การที่ช่างภาพสนใจที่จะทำให้ภาพถ่ายดูเฟอร์เฟคเกินไป” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตอลที่เครื่องมือสามารถแก้ไขภาพได้ง่ายดายและดีเยี่ยม เป็นจุดที่ทำให้ศิลปะภาพถ่ายเริ่มถูกบิดเบือนมากขึ้นทุกที
ปัจจุบัน บล็อกส่วนตัวของ Steve McCurry ก็ถูกปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว