ช่วงนี้คอลัมน์อาจจะเริ่มเลทนิดนึง เรากำลังค่อยๆปรับช่วงเวลาไปตามภาพที่ส่งเข้ามานะ บางสัปดาห์ก็มีมาก บางสัปดาห์ก็มีน้อย ซึ่งหลักการคัดเลือกก็คือพยายามให้หน้าใหม่ๆก่อนและปัญหาที่เจอก็หลากหลายกันไป ถ้าเป็นเคสคล้ายๆกันก็จะเลือกแค่ภาพเดียวประมาณนี้
“ดราม่าสตรีท” ครั้งที่ 4 เลือกภาพในสัปดาห์นี้ขึ้นมา 7 ภาพด้วยกัน โดยมี Commentator ของ สยาม.มนุษย์.สตรีท ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย
- อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ( Sun )
- อิศเรศ เฉลิมโสภาณ ( กบ )
- จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ( ปูเป้ )
สำหรับใครที่สนใจอยากให้พวกเราช่วยวิจารณ์งานอีก ก็ง่ายๆเลย เพียงไปโพสภาพงานสตรีทของตัวเองในเพจ สยามมนุษย์สตรีท Siam Street Nerds พร้อมกับใส่ #สยามมนุษย์สตรีท และบอกว่าขอคำวิจารณ์ แล้วพวกเราจะคัดเลือกงานขึ้นมาแบบนี้ในทุกสัปดาห์
** ย้อนอ่าน “ดราม่าสตรีท” ครั้งที่ 1
** ย้อนอ่าน “ดราม่าสตรีท” ครั้งที่ 2
** ย้อนอ่าน “ดราม่าสตรีท” ครั้งที่ 3
“ดราม่าสตรีท” ครั้งที่ 4
ภาพที่ 1 จาก Na NaLileo
(1) วิจารณ์ โดย Sun สยาม.มนุษย์.สตรีท
ก่อนอื่นเลย อยากให้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า หนึ่ง..เห็นอะไรในภาพนี้ ถึงรู้สึกสนใจถึงอยากจะถ่าย คือมันต้องมีคีย์บางอย่างเป็นตัวยืน เพราะสำหรับเรา คนดูภาพนี้แล้ว มันยังไม่มีอะไรที่ดึงดูดความสนใจให้เราอยากดูต่อได้ ไม่ว่าจะเนื้อหา , คอมโพส , สี , ท่าทาง
สอง..สมมติว่าในภาพมีเนื้อหาที่น่าสนใจ มาดูที่การจัดองค์ประกอบ ปัญหาขององค์ประกอบนี้คือ มอเตอร์ไซด์มาบังโดยไม่มีเหตุผลในการเล่าเรื่อง หรือเกี่ยวพันกับภาพ และระยะของการถ่ายภาพนี้ Tony Ray-Jones เคยกล่าวเอาไว้ว่า “อย่าถ่ายระยะกลางๆ” หมายถึง ถ้าจะให้น่าสนใจ ถ้าไม่เข้าใกล้ ก็อยู่ไกลๆเพื่อเห็นภาพกว้างเก็บรายละเอียดได้ครบไปเลย (ไม่ได้ถูกเสมอไปนะ แต่เป็นไอเดียที่น่าสนใจ) ส่วนตัว ในภาพนี้ควรจะเข้าใกล้กว่านี้อีกอย่างน้อย 3-4 ก้าว แต่ก็อีก..ให้กลับไปดูที่ข้อหนึ่งก่อน
(2) วิจารณ์ โดย ปูเป้ สยาม.มนุษย์.สตรีท
ภาพนี้เราเข้าใจว่าช่างภาพสนใจที่พระมานั่งกับวินมอไซค์ แต่น่าเสียดายที่พระไม่เด่นเท่าไหร่ เพราะมีหมวกกันน็อคที่ใหญ่มากมาบังอยู่ข้างหน้าค่ะ แต่นอกจากเรื่ององค์ประกอบแล้ว เรามาดูที่เรื่องราวในภาพดีกว่า คือมันไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการถ่ายทั่วไปบนท้องถนนค่ะ ซึ่งไม่ผิดเลยนะคะ คนเราบางทีก็แค่อยากถ่ายรูปเฉยๆ แต่ถ้าอยากให้รูปของตัวเองพีคมากๆ มันอาจจะยังไม่พอนะคะ การมองให้ออกว่าซับเจคไหนดีไม่ดี ควรค่าแก่การถ่ายหรือไม่ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆค่ะ ลองศึกษางานช่างภาพสตรีทหลายๆคนดูนะคะ
ภาพที่ 2 จาก Amika Aiir
(1) วิจารณ์ โดย กบ สยาม.มนุษย์.สตรีท
เราชอบซีนนี้ที่ช่างภาพถ่ายมาก ต้องชมในความใจกล้า ซึ่งน่าจะอยู่ในระยะที่ค่อนข้างใกล้ตัวแบบอยู่ และยังมีบรรยากาศอื่นมาเสริมเรื่องราวในภาพด้วย
สำหรับเรา พระเอกของภาพนี้ อยู่ที่คู่รักที่จูบกัน แต่ถ้าถ่ายมาแค่นั้นมันก็ อืมม โรแมนติกดีนะ.. จบ แต่พอช่างภาพเก็บผู้หญิงด้านซ้ายเพิ่มมาอีกคน ซึงกำลังทำหน้าเบะปากอยู่ ทำให้ภาพนี้ดูน่าสนใจขึ้นมาอีก เหมือนกับซีนละครน้ำเน่าที่ช่างภาพเป็นผู้กำกับอยู่ (จะทำไม่ได้ก็ตรงเดินไปสั่งตัวแบบเนี่ยแหละ) ทำให้ภาพนี้เปลี่ยนจากโหมดโรแมนติก มาเป็นดูแล้วตลก อมยิ้มๆ ซะยังงั้น และคนดูภาพก็สามารถเอาไปจิ้นต่อเอาเองได้ว่าเกิดอะไรขึ้น กับ3คนนี้
แต่สำหรับเราแล้ว ซีนนี้เราว่าสามารถไปได้หลายทางเลย เราจะตัดพื้นที่ทางด้านขวาออกไป (แต่ถ้ามีคนมานั่งทำหน้าเบะๆอีกนึงนี่ พีคเลยนะ) เพราะเราว่าเฟรมมันดูโล่งๆ ไม่มีอะไรมาเสริมเรื่องราวให้กับภาพ แล้วเข้าไปใกล้ตัวแบบมากกว่านี้อีก ถ่ายแบบ close up เอาให้เห็นสีหน้าท่าทางของตัวแบบทั้ง 3 คนชัดๆไปเลย ลองถ่ายทั้งแนวตั้ง แนวนอน แล้วก็รอดูอาการของซับเจคไปเรื่อยๆ ไม่แน่อาจจะได้สีหน้า ท่าทางและ องค์ประกอบ ที่ perfect มากกว่านี้ก็ได้
(2) วิจารณ์ โดย ปูเป้ สยาม.มนุษย์.สตรีท
ภาพนี้เด่นที่ซีนอารมณ์ การจับอารมณ์ของซับเจคในภาพได้เป็นเรื่องที่ดีค่ะ อันนี้ซับเจคคือคนจูบกันที่เด่นที่สุด ซึ่งโอเคแล้วค่ะกับการที่ช่างภาพรู้ว่าจะทำให้อะไรเด่น ทีนี้มาดูกันที่รายละเอียดต่างๆในภาพนะคะ
ภาพสตรีทที่ดีส่วนมากเราดูกันทั้งภาพค่ะ เพราะฉะนั้นซับเจครองและองค์ประกอบอื่นๆก็สำคัญด้วย ทางซ้ายโอเคอยู่นะคะมีซับเจครองที่มีอารมณ์ขัดแย้งกับซับเจคหลัก ส่วนทางขวานี่ไม่มี ซึ่งภาพจะพีคขึ้นได้อีกถ้ามีอารมณ์ที่ขัดแย้งกันทั้งซ้ายขวาเนอะ
อันนี้ไม่แน่ใจว่าทำไมช่างภาพถ่ายแนวตั้ง แต่เราคิดว่าข้างล่างและข้างบนไม่มีอะไรเสริมซับเจค เพราะฉะนั้นแนวนอนน่าจะดีกว่า ซับเจคจะได้เด่นขึ้นนะคะ
ภาพที่ 3 จาก Sirawit Kuwawattananont
(1) วิจารณ์ โดย ปูเป้ สยาม.มนุษย์.สตรีท
เราคิดว่าการถ่ายสตรีทที่ไม่มีคนให้ดีได้ ซับเจคนั้นๆต้องพีคมากๆๆค่ะ ส่วนตัวคิดว่าอันนี้ค่อนข้างใช้ดวง หรือไม่ก็ต้องครีเอทมากๆที่จะเชื่อมสิ่งของให้เข้ากันได้โดยไม่ต้องพึ่งคน
ภาพนี้เราเดาเองว่าช่างภาพต้องการเปรียบเทียบกันระหว่างก้อนเมฆที่เป็นของจริง กับลวดลายสี่เหลี่ยมๆๆของตึกสยามดิส เปรียบเทียบของจริงกับสิ่งก่อสร้าง เล่นสีขาวและรูปทรง เราเข้าใจแบบนี้นะคะ
ปัญหาของการเทียบสองอย่างในภาพเข้าด้วยกันคือ ถ้ามันไม่เด่นพอทั้งคู่ อย่างใดอย่างนึงจะไม่ชัด แล้วคนดูก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องการจะสื่ออะไร เช่นอย่างรูปนี้เมฆไม่ชัดค่ะ สีขาวตรงส่วนข้างบนมันทึมไป รูปที่ไม่มีคนพอมันสิ่งของมันไม่เด่น ภาพเดี่ยวจะกลายเป็นไม่น่าสนใจไปเลย ช่างภาพหลายๆคนเลยจะทำภาพชุดค่ะ พวกสิ่งของแปลกๆคือเอามารวมกันแล้ว จะเพิ่มความน่าสนใจขึ้นมามากกว่าใบเดียวมากๆค่ะ
(2) วิจารณ์ โดย Sun สยาม.มนุษย์.สตรีท
ขอเพิ่มเติมนิดเดียว คือเอาตัวอย่างภาพการเล่นกับ Subject ที่ไม่ใช่คน ต้องเล่นให้ขาดเลย เพราะเรามีเวลาพอสมควร ไม่ต้อง Decisive Moment (จังหวะเสี้ยววินาทีที่สำคัญ) แล้ว มีเวลาทบทวน อย่างเช่นภาพนี้ เป็นงานที่ได้เข้ารอบ Miami Street Photography เมื่อปี 2013

ภาพที่ 4 จาก Setthabutr Eaupanitcharoen
ภาพนี้ใช้การเล่นแสง silhouette เข้าใจว่าเพื่อสร้างอารมณ์หลอนๆให้ภาพ ซึ่งเวิร์คนะคะ และการที่มีคนอยู่ยิ่งทำให้หลอนมากขึ้นไปเลยทีเดียว แต่พื้นที่มืดด้านล่างกินพื้นที่ในภาพเยอะเกินไปค่ะ มันเกือบครึ่งภาพเลยทีเดียว ต่อให้มันจะช่วยเพิ่มความมืดหลอนของภาพ แต่เราคิดว่า 1/3 หรือน้อยกว่านั้นก็พอค่ะ
จุดที่สำคัญอีกอย่างคือการวางองค์ประกอบภาพค่ะ เราเห็นรูปร่างของคนก็จริง แต่มันอีกนิดดดดดเดียว คือส่วนหัวมันไม่ Figure to ground กับฉากท้องฟ้า แล้วส่วนสว่างตรงกลางก็ค่อนข้างสว่างมาก ทำให้ซับเจคมันเด่นไม่พอ คือตอนนี้มันหลอนแล้วแหละ แต่มันยังอีกนิดดดดนึงนะคะ
อันที่จริงภาพนี้มีความเป็นไปได้ที่จะได้ภาพสตรีทหลอนๆที่ดีนะคะ สมมติว่ารอให้ซับเจคมาตรงกลาง แล้วเกิดเค้าก้มหัว (จินตนาการอีกแล้วค่ะ มันอาจจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่คนเราต้องมีจินตนาการไว้ก่อน) จะได้ภาพเหมือนคนหัวขาด หลอนๆมืดๆพีคๆเลยค่ะ
(2) วิจารณ์ โดย Sun สยาม.มนุษย์.สตรีท
เพิ่มเติมจาก ปูเป้ คือเรานึกถึงงานของ Trent Parke โดยเฉพาะในซีรีย์ Dream/Life ถ้าผู้ถ่ายชอบแนวนี้จริงจังๆ ก็แนะนำให้หางานของเขามาศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ปัญหาก็คืออย่างที่ปูเป้ว่าไปแล้ว Figure to ground เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ ไม่ว่าภาพจะยังไงก็ตาม ดูตัวอย่างภาพนี้ได้ เนื่องจาก Trent Parke เป็นคนที่ถ่ายขาวดำเป็นหลัก เรื่อง Figure to ground เขาจึงโดดเด่นมาก

ภาพที่ 5 จาก Katai Taimo
เรามองว่าภาพนี้เป็นงาน portrait มากกว่าภาพสตรีท ซึ่งโอเคช่างภาพอาจจะถ่ายในที่สาธารณะ ไม่ได้ไปจัดฉากให้เค้าโพสท่าอะไร แต่การถ่ายมาแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ภาพทุกภาพจะเป็นภาพสตรีททั้งหมด
อย่างในภาพนี้เราชัดเจนเลยว่าช่างภาพเน้นไปที่ตัวแบบ โดยการเปิด F กว้าง ทำให้พื้นหลังเบลอ ทำให้ภาพมันเล่าเรื่องไม่ได้มากเพราะฉากหลังถูกทำให้เบลอไปหมดแล้ว ทั้งๆที่เราพอจะเห็นอยู่ว่าข้างหลัง มีคนอยู่เยอะมาก ซึ่งน่าจะนำมาสร้างให้ภาพมีเลเยอร์หรือเรื่องราวได้
หากสนใจในแนวสตรีทจริงจัง เราอยากแนะนำให้ช่างภาพลองดูงานสตรีทให้เยอะขึ้นก่อน(ซึ่งทางเพจเราก็พยายามเอามาแนะนำทุกวัน) ดูหลายๆแนว ศึกษาที่มาที่ไป พอเราดูไปได้สักพักเราจะเข้าใจและเห็นภาพ คราวนี้แหละพอถึงตอนที่ออกไปถ่าย มันจะสนุกมาก เราจะสังเกตมากขึ้น คิดเยอะขึ้น และมุมมองเราก็จะแปลกขึ้น