บทความ/ภาพ โดย อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล (Sun)
แม้ว่าการถ่ายภาพสตรีท จะเป็นการถ่ายภาพที่ไม่ยุ่งยากที่สุดในบรรดาการถ่ายภาพประเภทอื่นๆ เพราะมันมีคอนเซปว่า “ถ่ายที่ไหนก็ได้” เดินออกไปหน้าบ้านก็ยังจะได้รูปเลยถ้ามันมีเหตุการณ์หรือสิ่งที่ดูน่าสนใจสักนิด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เรารักการถ่ายภาพสตรีท เพราะอยากจะกดชัตเตอร์กล้องมันทุกเวลาเท่าที่จะทำได้
แต่…ในความเป็นจริงแล้ว การถ่ายสตรีทที่สนุกขึ้นไปอีกหลายช่วงตัว มันมักจะมาคู่กับ “การเดินทาง” ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานที่ใหม่ๆ อากาศที่ไม่เหมือนที่เราอยู่ ผู้คนที่มีชีวิตแตกต่างกับเรา สิ่งเหล่านี้ทำให้เลือดสูบฉีด ความเนิร์ดพลุ่งพล่านมากกว่าการถ่ายรูปอยู่หน้าบ้านเราแน่ๆ วันนี้..เราจะแนะนำสิ่งเล็กๆน้อยๆต่อการเดินทางออกไปถ่ายสตรีทกัน
1. มองหาสถานที่ที่ไม่เคยไป และถูกจริตเรา
การเลือกสถานที่นั้นสำคัญต่อความตื่นเต้น ถ้ามันเป็นสถานที่ที่แตกต่างไปจากชีวิตปกติของเรา มันย่อมทำให้สายตาเราสอดส่องหาอะไรอย่างตื่นตาตื่นใจมากกว่าปกติ แต่…มันก็ควรจะเป็นสไตล์ที่เราชอบด้วย ไม่ใช่ชอบที่หนาวๆ แต่ไปที่โคตรร้อน มันก็คงจะหมดอารมณ์จะถ่ายอะไรแล้วล่ะ

2. ควรมีจุดที่มีชุมชม มีผู้คนมากพอ
ชื่อแนวการถ่ายรูปของพวกเรามันก็บ่งบอกอยู่ว่า “สตรีท” นั่นหมายถึง มันควรจะมีแหล่งชุมชน มีผู้มีคนใช้ชีวิตอยู่กันบ้าง ไม่ใช่ไปซะเกาะร้าง ไปป่าเขาโน่นเลย…ได้ไปสตรีทปลานีโม่ สตรีทลิงสตรีทช้างกันแน่ๆ ดังนั้น..อย่าลืมหาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งชุมชนแต่ละพื้นที่ด้วย

3. แน่ใจซะก่อนว่า..ไม่อันตราย
เราคงไม่คิดจะไปถ่ายสตรีทในประเทศที่มีความเสี่ยงทางอาชญากรรมสูงๆ,ภัยสงคราม หรือการทำผิดวัฒนธรรมได้ เพราะการถ่ายสตรีทนั้นจำเป็นต้องดิวกับผู้คนตามท้องถนน ชุมชน ซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้าผู้คนไม่เป็นมิตรซะด้วยแล้ว…ย่อมเป็นการเสี่ยงมากแน่ๆที่จะเจอเรื่องไม่ดีเข้า บางประเทศก็มีกฏหมายเกี่ยวกับการถ่ายรูปในที่สาธารณะอีกต่างหาก หรืออย่างเช่นเรื่องง่ายๆนะ ในยุโรปมักไม่ชอบให้ถ่ายเด็กๆ พ่อแม่เด็กจะเดินมาหาเรื่องเราทันที.. ประสบการณ์ตรงเลย

4. ดูช่วงเวลา ฤดูกาลที่เหมาะสม
ล่าสุด..เราและกบ หาที่ถ่ายรูปกัน เพราะเบื่อจะเดินกรุงเทพกันแล้ว ก็เลยวางแผนว่าจะไปฮานอย เวียดนาม เพราะเห็นว่ามันถูกดี เมื่อไปถึงแล้ว..ปรากฏว่าเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ทุกวันที่เดินถ่ายมีแต่ฝนตกอย่างหนัก.. เป็นบทเรียนที่ไม่ควรลืมเลยว่า “อย่าลืมเช็คอากาศ เช็คฤดูด้วยเว้ย!” หรือบางทีสถานที่นั้นก็ดันเป็นช่วง Low Season ไม่มีคนเอาซะเลย..เงียบเป็นป่าช้า อะไรๆก็ปิดหมด เป็นต้น

5. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
SD Card , แบต , ที่ชาร์ท , เลนส์ อย่าลืมประเมินสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆว่าแต่ละวันเราถ่ายน่าจะถ่ายเยอะแค่ไหน? แบตควรใช้กี่ก้อนดี? ระหว่างวันสามารถชาร์ทไฟได้หรือเปล่า? ที่นั่นมี SD Card ขายมั๊ย กรณีเกิดทำหายขึ้นมา? ระยะเลนส์ที่ใช้ พื้นที่แคบมากๆเราอาจจะต้องพึ่งเลนส์ระยะกว้างหน่อย หรือพื้นที่กว้างชิบหายเลย เลนส์ระยะ 50mm. ก็ดีเหมือนกัน เป็นต้น
6. เดินสำรวจพื้นที่ก่อนในวันแรก
วันแรกที่ไปถึง เรามักจะตื่นเต้นกับที่ที่เราไป ตื่นเต้นกับผู้คนที่เราไม่รู้จัก ดังนั้น…เรามักจะถ่ายโน่นนี่เยอะเป็นพิเศษ จงเผื่อเอาไว้หนึ่งวันเพื่อถ่ายแล้วเสียไปก่อน ถ่ายแม่งไปทุกอย่างเลย เอาให้สาแก่ใจ เดินสำรวจพื้นที่ไปด้วยว่า พื้นที่ไหนที่ดูสวยและมีโอกาสในการได้ภาพที่ดีได้ แสงแดดมีช่วงเวลาไหนบ้าง? ผู้คนโอเคมั๊ยกับการเข้าหาของเรา? เมื่อวันแรกหมดไป ให้ทำการบ้านเพิ่มโดยการกลับมาดูภาพของวันแรกว่าเราได้อะไรมา? มีอะไรควรปรับปรุง ส่วนใหญ่แล้วเมื่อย้อนกลับมาดู เราจะหายตื่นเต้นกับหลายๆอย่างจนรู้สึกว่า “กูถ่ายอะไรไปวะ?” เริ่มมีสติ..แล้วเราก็จะสามารถกลับไปถ่ายซ้ำในที่ที่เราคิดว่ามันโอเคได้ดีขึ้น

ไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นเมืองนอกกันอย่างเดียวนะ..จริงๆแล้วในเมืองไทยก็ใช้หลักการเดียวกันได้ ในหลายๆจังหวัดเราเชื่อว่า สามารถถ่ายสตรีทได้ดีแถมไม่ซ้ำใครด้วยล่ะ ขอให้มีความสุขในการออกเดินทางและการถ่ายสตรีท