- สัมภาษณ์ โดย อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ( Sun )
- ภาพ โดย อิศเรศ เฉลิมโสภาณ ( กบ )
“น้าบอล” เป็นช่างภาพสตรีทไทยคนแรกๆที่เรารู้จักว่า นี่แหล่ะ.. คนไทยที่ถ่ายภาพสตรีทจริงๆจังๆ มีงานเข้าในระดับโลกไม่น้อย งานของน้าบอลดูดวิญญาณเราตั้งแต่แว่บแรกที่มองเข้าไป องค์ประกอบภาพที่อิ่ม เต็ม พอมองไปดีๆก็จะมีเรื่องอะไรบางอย่างในภาพที่มันสะกิดเราอีกขั้นหนึ่ง ตอนที่เริ่มถ่ายสตรีท เราไม่รู้หรอกว่างานสไตล์นี้เรียกว่าอะไร แต่ก็จำได้ดีว่าคนนี้เขาถ่ายแบบนี้ เป็นช่างภาพสตรีทอยู่ที่หาดใหญ่ เงียบขรึม และเขาก็ถ่ายภาพสตรีทด้วยฟิล์มอยู่หลายภาพทีเดียว ทำให้หลังจากนั้น เราสามารถคุยกับน้าบอลได้อย่างออกรสออกชาติ ใครๆก็เรียกว่า “น้าบอล” และน้าบอล ก็ไม่ได้แก่ขนาดจนเป็นน้าจริงๆ แต่เป็นคำเรียกที่ติดปากของวงการช่างภาพที่รู้กันดี
วันนี้เราเลยจะพามารู้จัก น้าบอล สกุลชัย สี่กิติกุล หนึ่งในช่างภาพสตรีทจากกลุ่ม Street Photo Thailand

SSN : ตอนแรกน้าบอลเริ่มถ่ายภาพแนวๆไหนมาก่อน
น้าบอล : เริ่มแรกจริงๆ ไม่ได้ถ่ายสตรีทครับ ก็ถ่ายทั่วไป ถ่ายแฟน ถ่ายอะไรที่เน้น Depth of field ยังบ้าเรื่องโบเก้อยู่ (Bokeh)
SSN : น้าบอลเรียนอะไรมาครับ
น้าบอล : ศิลปากรครับ นิเทศน์ศิลป์ ศิลปากร แต่ว่าสมัยเรียนก็ไม่ได้สนใจกับเรื่องฟิล์มเลย มีวิชาเรียนก็จริง แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ บางทียังยืมงานเพื่อนส่ง
SSN : แล้วอะไรคือจุดที่อยากถ่ายรูป แบบก่อนหน้าจะถ่ายสตรีทด้วยนะ
น้าบอล : เรายังเป็นคนในยุคโน้น แม้ตอนนั้นดิจิตอลจะมาแล้วนะ แต่เรายังชอบฟิลลิ่งของฟิล์ม แล้วยังเชื่อว่า การเก็บภาพด้วยฟิล์มเนี่ย มันนิ่งกว่าการเก็บด้วยไฟล์ ผมไม่ค่อยเชื่อในความเป็นเทคโนโลยีเท่าไหร่ เราเก็บเป็นฟิล์มมันอุ่นใจกว่า
SSN : แสดงว่าเริ่มจากถ่ายฟิล์มก่อน ตอนนั้นใช้กล้องอะไรจำได้มั๊ยครับ
น้าบอล : มีพี่คนนึงยุให้มองที่เลนส์ก่อน ก็คือระยะ 35 เป็น Voigtlander 35 (หมายถึงเลนส์ระยะ 35mm. ของ Voigtlander) แต่ว่าเพื่อนที่เป็นรุ่นพี่ก็ทักแล้วล่ะว่าควรจะเป็น Leica แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่ามันไม่ต่างกันเท่าไหร่ ก็เลยซื้อมา แล้วท้ายสุดเราก็ต้องกลับมาที่ Leica 35 f/2 ( Leica Summicron 35mm. F/2 ) อยู่ดี
ถามว่าระยะ 35 ระยะ 50 ต่างกันยังไง ตอนนั้นคือยังไม่รู้เรื่องเลย เขายุมาอย่างนี้เราก็ตาม แต่ว่าพอถ่ายไปสักพักเนี่ย พี่คนเดิมเขาก็แนะนำต่ออีกว่า ลองดูงานคนนี้สิ Henri Catier Bresson เอาและ.. คือใคร ทีนี้เราก็เริ่ม Search

SSN : ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของสายสตรีท
น้าบอล : ใช่ครับ ซึ่งก่อนสตรีทนี่ไปหลงใหล Medium Format มาก่อนด้วย ผมรู้สึกว่าฟิล์มมันใหญ่มาก ผลักระยะสวย มันเก็บทุกรายละเอียดได้ดี ตาม Flickr คนญี่ปุ่น ตอนนั้นยังติดเป็นงานเรียบๆนิ่มๆ
SSN : ทีนี้พอเริ่ม HCB (Henri Catier Bresson) แล้วเลยยาว?
น้าบอล : ใช่ ทีนี้เลยยาว ก็ไปตามเขา (HCB) ว่าเขาถ่ายด้วยอะไร มี 50 ด้วย ก็ไปหามาอีก
SSN : แสดงว่าน้าบอลชอบแนวคลาสสิคเลย
น้าบอล : เรียกว่าแทบจะตามรอยกันเลย ใช้เลนส์อันนี้ก็ตาม วิเคราะห์ภาพกันแบบซีเรียสเลย ตอนนั้นเขาถ่ายอย่างเงี้ย ด้วยท่าไหน
SSN : แล้วคือ HCB คนเดียวเลยหรือเปล่าที่ตามจริงจัง
น้าบอล : จริงๆก่อนนั้นก็มี Steve McCurry ก็คือไม่สตรีทซะทีเดียว แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ อะไรคือ Decisive Moment แต่เราตั้งคำถามกับรูปของ Steve ว่า ทำไมภาพคนภาพนี้ แค่มีคนเดินผ่านอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำไมมันถึงอิมแพคกับเรา ทำไมมันถึงตราตรึงกับความรู้สึกเรา พอมาถึงปู่อองรี (HCB) ปุ๊ป มันก็เลยบรรจบกันที่คำว่า Decisive Moment ว่ามันคือช่วงเวลาที่เหมาะสม

SSN : ก็เลยเริ่มเรียนรู้สตรีทจากจุดนี้ ทีนี้จุดพัฒนาต่อมาของน้าบอลคืออะไร
น้าบอล : คือเริ่มมารู้จักเพื่อนๆในเฟสบุ๊ค ก็คือ น้าต๋อง (วิสิทธิ์ กุลศิริ) ตอนนั้นยังเป็นกลุ่ม Smiley ( Smiley in public ) ซึ่งเพื่อนๆแนะนำให้ลองมาสมัครดูสิ ตอนนั้นยังเป็นสนุกๆเล่นๆ ภาพดูตลกดี อะไรแบบนี้ พอเข้ากลุ่มปุ๊ป ก็เริ่มดูงานเพื่อน ดูงานน้าต๋อง ดูงานคนโน้นคนนี้ ก็เริ่มเข้าใจทีละนิด เป็นไปตามสเตป
SSN : จุดไหนที่คิดว่า เราเริ่มเข้าใจงานสตรีท อย่างผมตอนแรกไม่เข้าใจเลย จนกระทั่งวันนึงพอเริ่มเรียนรู้ มีคนบอก แล้วเราถ่าย มันได้รูปนึงที่รู้สึกว่า เออ เราเข้าใจสตรีทบ้างแล้ว
น้าบอล : รูปแรกๆที่ผมเข้าใจ คือการเล่นกับป้าย อะไรแบบนี้ มันจะเข้าใจง่าย สื่อสารกับคนดูได้ง่าย เราจะเริ่มเข้าใจจากตรงนั้น แล้วพอเราไปเดินในหาดใหญ่ เราก็ลองบ้าง เพียงแต่ว่าในหาดใหญ่มันไม่ค่อยมีป้ายที่เท่ๆ โมเดิร์นๆ ก็เคว้งไปพักนึงเหมือนกัน สุดท้ายแล้วผมรู้สึกว่าคนที่ถ่ายสตรีท ท้ายสุดแล้วมันต้องมีรูปแรกที่เขารู้สึกว่ามันเข้าถึง แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ที่ดีหรอกนะ ถ้ามองย้อนกลับไป เพียงแต่เราต้องภูมิใจกับภาพๆแรกก่อน
ผมเล่นกับป้ายห้ามเลี้ยวซ้าย แต่บังเอิญคนเดินมาแล้วเลี้ยวซ้าย (แนว Juxtaposition การเปรียบเทียบสองสิ่งในภาพเดียวกัน) คือมันไม่มีอะไร (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นเราภูมิใจว่าเราเข้าถึงแล้ว

SSN : จุดนึงของคนสมัยนี้ Flickr มันคือสิ่งที่ใช้พัฒนาตัวเองในการถ่ายสตรีท น้าบอลเริ่มเล่นมานานแค่ไหนแล้ว
น้าบอล : ก็ประมาณ 4 ปีครับ
SSN : แล้วมันท้าทายตัวเองมั๊ย
น้าบอล : คือเหมือนกับพอเรารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ เราเห็นงานเขา มันก็เป็นแรงขับลึกๆของเราเหมือนกันว่า เฮ้ย เพื่อนเขาไปกับเรื่อยๆแล้วนะ แล้วถ้าเราจะไปให้ถึงตรงนั้นได้ เราต้องจริงจังกับมัน จะมานั่งถ่ายขำๆ มันไปไม่ได้
SSN : จุดนี้อยากจะชวนคุยเหมือนกัน อย่างที่ผมทำบล็อกเนี่ย ชื่อแม่งคือ “เนิร์ด”
น้าบอล : จริงๆผมก็ “เนิร์ด” นะ
SSN : ใช่ (หัวเราะ) คือผมว่าคนที่มาถ่ายสตรีทเนี่ยมันต้องไปถึงจุดที่แบบ “หมกมุ่น” จุดไหนที่น้าบอลรู้สึกว่า “หมกมุ่น”
น้าบอล : คือผมอ่านของใครน่ะ Elliott Erwitt เหรอ แกก็บอกว่า คุณต้องเอากล้องไปทุกที่นะ ผมก็เอาไป คือทุกคนต้องผ่านช่วงเวลาที่แบบกล้าๆกลัวๆไม่กล้าถ่าย เราต้องผ่านตรงนั้นไปให้ได้ พอเราผ่านไปได้ มันก็จะมีการก้าวกระโดดพอสมควร
SSN : อย่างเช่นการถ่าย Subject คนที่ใกล้มาก น้าบอลทำยังไง
น้าบอล : ผมว่าทุกคนมันจะมีความกลัวที่จะถูกด่า จะโดนอะไรก็แล้วแต่ ผมก็คิดก้าวกระโดดไปเลย เลวร้ายที่สุดที่จะเจอคืออะไร เขาก็คงด่ามั้ง เราถ่ายฟิล์มมันก็ลบไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดพอเราโดนด่าจริง มันก็จุกไป
SSN : เคยโดนด่าหนักสุดจริงๆคืออะไร
น้าบอล : ผมอยู่ในรถแล้วถ่ายคันข้างหน้า เป็นเหมือนแบบคนส่งของที่อยู่หลังรถ เราก็แบบเฮ้ยได้เว้ย เราก็กดป้าบ แล้วเขาก็หันมามองเราพอดี คือเราก็ไม่ได้ยินนะ แค่เห็นขยับปาก พออ่านความได้บ้าง (หัวเราะ) มันก็จะชาๆ หน้าชาๆ แต่เราก็เตรียมใจได้ประมาณนึง
SSN : บ่อยมั๊ย เอาแบบจาก 100%
น้าบอล : ไม่เยอะนะ ของผมไม่เยอะ
SSN : ข้อนี้ คืออยากจะบอกคนที่เริ่มถ่ายสตรีทเหมือนกัน ว่าคนที่ถ่ายสตรีทจริงๆจังแล้วเนี่ย มันไม่ได้โดนอะไรแบบนี้เยอะมากๆนะ แบบ 30% อะไรแบบนี้ เต็มที่ก็ 10%
น้าบอล : ผมว่ามันขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วย
SSN : มันอยู่ที่ Subject นั้นด้วยว่ามั๊ย
น้าบอล : ผมว่าโดยทั่วไป คนถ่ายสตรีทเขาก็จะมอง Subject ที่มีอะไรบางอย่างที่เราต้องกด ซึ่งมันต้องผิดปกติกว่านั่งอ่านหนังสือพิมพ์อะไรแบบนี้ บางทีเราอาจจะเข้าไป ก้าวข้ามวงปลอดภัยของเขา
SSN : ซึ่งน้าก็ชินแล้ว
น้าบอล : ก็ถ้าโดนทีก็จุกไปที
SSN : มีคนเคยบอกว่า ถ่ายสตรีทเยอะแล้วก็เถอะ นึกจะกล้าก็กล้า บางจังหวะนึกจะไม่กล้าขึ้นมาซะงั้น
น้าบอล : เป็นๆ คิดแล้วต้องทำเลย ถ้าแบบเดี๋ยวๆกูไปแป๊ปนึง ก็จะเริ่มกล้าๆกลัวๆ ตอนที่ยังไม่ได้กดน่ะ มันจะตื่นเต้น ซึ่งตรงนั้นมันคือขอบเหว ถ้าเราทำได้ มันคือความสุข มันจะฟินมากเลยอ่ะ
SSN : คือผมจะชอบคิดว่า ความอยากได้ภาพแม่งเหนือทุกอย่าง
น้าบอล : ถูกๆ
SSN : วันก่อนคุยกับน้าไปแล้วบ้างเรื่อง น้าเองจะมีการเข้าไปคุยกับ Subject ด้วย เริ่มต้นยังไง
น้าบอล : การเข้าไปคุยกับ Subject นี่ มันไม่ได้หมายความว่าเราเข้าไป “จัด” (Staged) เขานะ ในท้ายที่สุดแล้ว เราคิดว่าก็คือคนน่ะ โอเคเราอาจจะแอบถ่ายเขา แต่เราก็อาจจะขอบคุณเขาได้ หรือบางทีที่เราเข้าไปในสถานที่ที่สังคมปิดๆหน่อย การที่เราเข้าไปเดินทำท่าลุกลี้ลุกลน ผมว่าคิดในทางกลับกัน เขาคงไม่แฮปปี้ แล้วยิ่งภาคใต้บ้านผมงี้ เขาคงไม่แฮปปี้ เราก็แค่สวัสดีครับ ขอมาถ่ายรูปครับ
SSN : น้ามองการเข้าไปคุยแบบนี้ มันเป็นวิธีของ Documentary หรือเปล่า
น้าบอล : ใช่ๆ
SSN : เส้นบางๆระหว่าง Documentary กับ Street Photography ของน้าคืออะไร
น้าบอล : คือผมว่ามันเป็นอิทธิพลที่เราได้รับจากคนที่เราชอบ ซึ่งมันเป็น Documentary อยู่ อีกอย่างเนี่ย สถานที่ที่เขาไปเนี่ยไม่ใช่อะไรที่เป็นห้าง มันเป็นอะไรที่กันดาร ผมเชื่อว่ามันจะมีความเป็น Documentary
SSN : แสดงว่าน้ามีความชอบที่เป็น Documentary อยู่ มีใครที่มีอิทธิพลต่องานน้า
น้าบอล : ชื่อลุง Nikos Ecomonopoulos

SSN : จริงๆเขาก็คล้ายๆแนว Alex Webb
น้าบอล : แต่เป็นโทนขาวดำ ผมรู้สึกว่าในพื้นที่ผม หาดใหญ่ มันมีความเป็นท้องถิ่น ชาวบ้าน ถ้าเราจะถ่ายอะไรที่โมเดิร์นมากๆ เราต้องดูสถานที่ด้วย เราก็ต้องดูความเป็นจริงของบ้านเรา มันมีการเรียง Composition คือถ่ายแบบตั้งใจ ไม่ใช่ฟลุ๊คน่ะ
SSN : พอชวนคุยมาถึงจุดนี้ ผมรู้สึกว่างานน้าจะมีความเป็นมุสลิมเยอะ คือน้าสนใจเป็นพิเศษหรือเพราะเป็นพื้นที่น้า
“ตอนที่ยังไม่ได้กดน่ะ มันจะตื่นเต้น ซึ่งตรงนั้นมันคือขอบเหว ถ้าเราทำได้ มันคือความฟิน”
น้าบอล : ใช่ครับ มันเป็นพื้นที่ของผมครับ คือเรามองสิ่งที่เราเห็นจริงๆ เพียงแต่เราไม่ก้าวข้ามไปถึง Documentary เต็มตัว ผมเชื่อว่าถ้าจะทำ Documentary มันต้องเต็มที่กับมันมากๆ ต้องศึกษาละเอียดและมีประเด็นที่จะพูดชัดเจน
SSN : มาถึงเครื่องมือ น้าใช้อะไรมาบ้าง
น้าบอล : ตอนแรกเพื่อนแนะนำให้ใช้ Leica M6 เราก็ย่ามใจ ไปซื้อ Voigtlander Bessa R2A มีโหมดออโต้ด้วย มันก็ได้เฟรมที่ถูก เร็ว แต่สักพักนึง เพื่อนอีกคนนึง เปรยๆว่ามึงถ่ายฟิล์มต้องเมนวลสิ มันไม่ได้วิญญาณ (หัวเราะ) ท้ายสุดแล้วก็กลั้นใจซื้อ M6
SSN : พอหันมาใช้เมนวลหมดแล้วได้อย่างที่คิดมั๊ย
น้าบอล : ไม่ได้ (หัวเราะ) คือสมัยเรียนผมไม่ค่อยตั้งใจเรียน ทุกอย่างก็ต้องมารื้อฟื้นใหม่ ทฤษฏีก็ไม่ค่อยแม่น หลายครั้งเนี่ย ภาพที่กดออกมา เราแทบจะเอาโมเม้นท์นั้นเนี่ย แต่เข็ม M6 มันชี้ว่าอันเดอร์ โอเว่อร์ แต่ว่าเอาแล้วอ่ะ ทุกอย่างเรามองไปที่นั่นแล้ว หลายๆครั้งภาพมันก็ออกมาโอเว่อร์ อันเดอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพยายามแก้ ถ่ายแล้วก็ปรับปรุง ให้มันเพอร์เฟค
SSN : แล้วแฮปปี้กับมันมั๊ย
น้าบอล : ผมรู้สึกว่าพอเราถ่ายไปสักพัก พอเวลาเราได้ภาพที่พอดี มันจะภูมิใจกับตัวเองมาก มันคุ้มที่จะแลกกับมัน เพียงแต่เราต้องยอมรับว่าเราต้องปรับปรุงในเรื่องทฤษฏี
SSN : เทคนิคของการถ่ายของน้า อย่างผมจะได้จากน้าต๋องเรื่อง Zone System ของน้ามีบ้างมั๊ย
น้าบอล : ผมดูรูปที่เราชอบ แล้วมาวิเคราะห์ว่า แต่ละรูปเนี่ย เขาโฟกัสตรงไหน เพราะด้วยขีดจำกัดของเลนส์มันไม่มีทางที่จะชัดหมด ในหลายๆรูปแสงมันน้อยมาก เราก็มาวิเคราะห์ว่าเขาโฟกัสตรงไหน
SSN : คือวิเคราะห์จุดที่เขาทิ้งโฟกัส อย่าง Layer (ภาพที่มี Subject ทั้งระยะหน้า , กลาง , หลัง ประกอบกันหลายๆ Subject โดยไม่ซ้อนทับกัน) เงี้ย
น้าบอล : เออ อย่าง Layer เงี้ย ทำไมรูปนี้ เอาข้างหน้าชัด รูปนี้เอาข้างหลังชัด รูปนี้เอาตรงกลางชัด ยกตัวอย่างอย่าง Alex Webb เราดูกันแบบ รูปนี้เขาเอาตรงไหนนะ

SSN : น้าคิดว่าเขา (Alex Webb) เอาตรงไหน
น้าบอล : ผมว่าเขาเอาตรงกลางแล้วก็ปล่อยข้างหน้าเบลอ ช่างมัน
SSN : ซึ่งงานน้าก็ประมาณนั้นมาก
น้าบอล : มีคนนึงชื่อ Ernesto อะไรสักอย่าง คนบราซิล เขาก็ถ่ายแบบนั้น คือ Layer แล้วเอาตรงกลางหลักไว้ก่อน เราก็อ่อ ตั้ง 2-3 เมตร ไว้ก่อน ถ้ามีเวลาเพิ่มเราถึงบรรจงโฟกัสเพิ่ม
SSN : ผมมองว่าสตรีทมันคือการสะท้อนสังคมในยุคนั้นๆ ลึกกว่านั้น มันยังสะท้อนบุคลิกของคนถ่ายด้วย
น้าบอล : ผมมองว่าสตรีทมีวิวัฒนาการของสังคม มันเป็นเทรนน่ะ ยิ่งเราไปมองงานต่างประเทศมันจะไปเรื่อยๆของมัน
SSN : เอาแค่หนึ่งปีที่ผ่านมา ก็โคตรพัฒนามากๆ สมมติอย่างวีพง (ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์) จากจุดที่ถ่ายหมาหัวขาด มาถึงตอนนี้ งานก็ไปไกลมาก

น้าบอล : ใช่ครับ ผมคิดว่าถ้าเอางานสไตล์ยุคก่อนๆมาส่งประกวด มันจะกลายเป็นงานที่เชยไปเลย อ่าวแล้วยังไงเนี่ย.. คนที่ชอบงานคลาสสิคนี่ยังไง เราก็มองว่า อ่อ มันเป็นแฟชั่น มันเป็นเทรน มาแล้วก็ไป มีกระแสหลัก พอผมมาถ่ายสี งั้นกูลองกระโดดเข้าไปในวงแฟชั่นบ้าง
SSN : เห็นเดี๋ยวนี้น้ามียิงแฟลช
น้าบอล : (หัวเราะ) ก็ลองสนุกกับมัน ถ้าถามลึกๆก็ชอบงานคลาสสิค
SSN : อย่างผม ผมชอบงานน้ามากที่การวางเฟรม

“ผมรู้สึกว่าภาพสตรีทที่เวิร์ค มันเหมือนกัมมันตภาพรังสี มันจะส่งพลังกับคนดู อีกห้าปีมันก็ยังมีพลังอยู่”
น้าบอล : ผมก็ลองไปเรื่อยๆ แบบ Layer ลองแบบเต็ม แบบถอยออกมาแล้วทิ้ง Space
SSN : น้ามีเป้าหมายในการถ่ายสตรีทของตัวเองมั๊ย คือเพราะการถ่ายสตรีทนี่เป็นถ่ายภาพที่เรียกว่าเป็นอาชีพได้ยากมาก
น้าบอล : เคยคุยกับคนอื่น ผมบอกว่า จริงๆเราอยู่บ้านก็ได้ เราจะออกมาตากแดด ร้อน วุ่นวาย โดนคนด่าทำไม คือจริงๆเรามาสร้างงานศิลปะ โอเคบางคนอาจจะเพ้นท์อะไรก็ว่าไป ผมรู้สึกว่าภาพสตรีทที่เวิร์ค มันเหมือนกัมมันตภาพรังสี มันจะส่งพลังกับคนดู ไม่ว่ามันจะผ่านไปอีกห้าปี ถ้ารูปมันเวิร์ค อีกห้าปีมันก็ยังมีพลังอยู่
ผมว่าการยืนระยะสำคัญมาก อาจจะเป็นเพราะผมเรียนสายศิลปะมา ลึกๆแล้วเรามีความอยากสร้างงานศิลปะ ซึ่งคนเรียนศิลปะทุกคนก็คงอยากทำสิ่งนี้.
ขอบคุณสำหรับบทสัมภาษณ์ดีๆนะครับ 🙂