บทความ โดย อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล (Sun)
ถึงแม้ว่าคำจำกัดความตามวิชาการถ่ายสตรีท คือ “การถ่ายภาพในที่สาธารณะโดยไม่มีการจัดฉาก และมีเนื้อหาที่สร้างสรรค์” แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ต้องการความสวยงามนะ…
การถ่ายสตรีทก็ไม่ต่างกับการถ่ายภาพแนวอื่นๆ คือมีความสวยงามของการเป็นภาพถ่าย แล้วเราค่อยบวกเรื่องราวที่น่าสนใจที่เราต้องการจะสื่อสารลงไป
หลังจากมีการครุ่นคิดว่าจะเขียนบทความนี้ออกมาในหน้าตาแบบไหนให้เข้าใจง่ายที่สุด เนื่องจากมีคนถามบ่อยเหลือเกิน ด้วยคำถามที่ฟังดูง่ายมาก แต่ตอบยากมากเช่นกัน “ถ่ายสตรีทยังไงให้มันสวยครับ?”
วันนี้เลยขอเขียนบทความนึง วิเคราะห์จากภาพสตรีทกลั่นออกมาเป็นหัวข้อๆ ลองเอาไปฝึกกันเป็นอย่างๆ จับงานตัวเองออกมาดูว่า มันมีสิ่งเหล่านี้ในภาพหรือยัง? รับรองว่า อย่างน้อยงานของตัวเองจะต้องดีขึ้นสักหน่อยล่ะน่ะ
การจัดองค์ประกอบภาพ
ฟังดูพูดง่ายๆ แต่อาจจะเข้าใจยาก…ใจเย็นๆ มาอ่านกันต่อ
การถ่ายภาพสตรีทมีทั้งจังหวะที่รีบเร่ง เพราะเหตุการณ์นั้นเกิดเพียงเสี้ยววินาที หรืออาจจะเป็นจังหวะที่เราสามารถยืนถ่ายไปได้เรื่อยๆก็มีทั้งนั้น แต่ไม่ว่าแบบไหน สิ่งสำคัญนั่นก็คือ การจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงาม หลักมาตรฐานที่มักใช้กันเช่น Golden Ratio , Rule of Thirds เป็นต้น
เอาจริงๆนะ.. เราว่า Golden Ratio เข้าใจยากเกินไปสำหรับหลายๆคน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีพื้นฐานศิลปะมาก่อน เราเลยคิดว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะเลือก Rule of Thirds มาทำความเข้าใจก่อน แล้วอะไรคือ Rule of Thirds?
ง่ายๆคือเมื่อลากเส้น 3 เส้น ทั้งแนวตั้งและแนวนอนเท่าๆกัน จะเกิดจุดตัด 4 จุด ซึ่งตามหลักแล้ว อะไรก็ตามที่อยู่ตรงจุดตัดพอดี สิ่งนั้นจะโดดเด่นที่สุด แล้วสิ่งอื่นๆที่อยู่นอกจุดจะเป็นส่วนที่สำคัญรองลงมา
นอกจากจุดตัดแล้ว เรายังมองเห็นเส้นแบ่งภาพออกเป็นสามส่วนอีก ดังนั้นเราก็ยังจะสามารถแบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วนที่สวยงามได้อีกด้วย


แต่สิ่งสำคัญมากกว่าการมานั่งคิดถึงเรื่อง Rule of Thirds ก็คือ.. ควรศึกษางานที่มีสัดส่วนสวยงามเยอะๆ แล้วก็ฝึกถ่ายให้ได้สัดส่วนแบบนั้นเยอะๆ วิเคราะห์งานตัวเองอย่างตรงมาตรงไป เมื่อการดูภาพและการฝึกมากพอ พอถึงสถานการณ์จริงเราคงไม่มีเวลานั่งคิดในจังหวะเสี้ยววินาทีถึงกฏอะไรอีกต่อไป ใครจะมานั่งทบทวนวะ.. ว่าต้องเอาคนไปอยู่ส่วนก้นหอยของ Golden Ratio อะไรแบบนั้น..คิดไม่ทันหรอก (บางคนบอก.. ก็เปิด Grid ในกล้องสิวะ ถถถถถ)
แต่ความเป็นจริงคือ ถ้าฝึกมากพอสมองจะสั่งให้เราจัดองค์ประกอบภาพตามจิตใต้สำนึกมากกว่า (ส่วนตัวก็ไม่เคยคิดทันว่ามันอยู่ในสัดส่วนที่ถูกต้องหรือยัง? แต่ใช้ความรู้สึกมากกว่า)
ระยะห่าง ความใกล้ไกล
ความใกล้ไกลของสิ่งที่เราจะถ่ายมีความสำคัญเช่นกัน เวลาเริ่มต้นถ่ายสตรีทมักจะมีคำแนะนำเรื่องการถ่ายให้ใกล้แบบขึ้นอีก (Approach) นั่นเป็นเพราะธรรมชาติคนมักจะกลัวการเข้าใกล้คนแปลกหน้า ทำให้ภาพมีระยะห่างเกินไป เล่าเรื่องไม่ชัดเจน ไม่กระชับ ในขณะที่เรามักจะกล้าถ่ายภาพคนในครอบครัวมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพที่เราถ่ายเพื่อน ถ่ายคนในครอบครัวก็มักจะดูดีกว่าถ่ายคนแปลกหน้า เป็นเหตุผลให้คนที่เริ่มต้นถ่ายสตรีท ต้องฝึกการ Approach หรือเข้าหาคนให้ได้ก่อน
เรื่องระยะเลยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ใช่ว่าจะต้องใกล้อย่างเดียวนะ…มันต้องแล้วแต่ว่าเราจะเล่าอะไรด้วย ถ้าเราฝึกใกล้ได้แล้ว นั่นแปลว่าเราทะลายกำแพงข้อจำกัดของทุกระยะได้ เราสามารถถ่ายได้ทั้งใกล้ , กลาง และ ไกล ได้ทั้งหมด โดยไม่มีความกลัวอะไร
เหมือนซีนต่างๆในหนัง ทำไม?..ฉากนี้กล้องต้อง Close up ไปที่หน้าคนนี้ เพราะต้องการดูสีหน้าของตัวละคร หรือทำไมฉากนี้ต้องอยู่ระยะ Medium Shot เพราะหนังต้องการเล่าเรื่องระหว่างตัวละคร 3 ตัวคุยกัน หรือทำไมฉากนี้ต้อง Long Shot อยู่ไกล เพราะหนังต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างฉากและตัวละคร เป็นต้น



** ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของ Shin Noguchi ได้ คลิกที่นี่ **
การเลือก Subject ที่น่าสนใจ
เป็นส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับมือใหม่ หลายๆคนพอหัดถ่ายสตรีทก็มักจะถ่ายดะเลย อะไรก็ได้ ใครก็ได้ ยิ่งพอเข้าใกล้แบบเป็นนะ.. ถ่ายแม่งแหลกเลย ในความเป็นจริงแล้วการเลือก Subject ที่ดีจะมีพลังส่งภาพนั้นอย่างน้อยๆก็เกิน 50% เลย
Subject ที่น่าสนใจคืออะไร? Bruce Gilden ปรมาจารย์ด้านการถ่ายสตรีทแบบจ่อคอหอยมักจะกล่าวถึงเรื่องนี้เสมอ “Characters” นั่นคือคำที่เขาใช้อธิบายการเลือก Subject ที่ดี แล้ว…อะไรคือ Characters ?
ภาษาไทยแปลไว้ว่า “บุคลิก” นั่นหมายความรวมตั้งแต่ หน้าตา (ประหลาด , สวย , หล่อ , ตลก , น่ากลัว) รูปร่าง เสื้อผ้า ทรงผม ท่าทาง ของคนๆนึง ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วถ้าคนๆนั้นเดินอยู่บนถนน มี “บุคลิก” ที่ทำให้เราสนใจได้ ทำให้เราจดจำได้ ก็จะเป็น Subject ที่ดีในภาพถ่ายนั้น เช่นเดียวกับเวลาเราดูหนังสักเรื่อง เรามักจะสะดุดกับตัวละครในหนังที่โดดเด่นออกมา มากกว่าตัวประกอบทั่วๆไป



อาการ ท่าทาง (Gesture)
จริงๆหัวข้อนี้เราให้ความสำคัญมากถึงกับเคยจดเอาไว้ว่าอยากเขียนเจาะจงเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่เอาเป็นว่าอธิบายในนี้คร่าวๆไว้ก่อนว่า ส่วนนี้สำคัญอย่างไร?
ลองจินตนาการจากส่วนของหน้าตา Subject ก่อน สมมติ Subject หน้าตาสวย ทุกอย่างดูโดดเด่น แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำท่าอะไร ไม่ได้โพสว่างั้น หรือไม่ได้ทำท่าทางอะไรโดดเด่น ความดีงามของ Subject นั้นก็ย่อมไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนการถ่ายแบบ ถ้านางแบบไม่โพส หรือไม่แสดงสีหน้า ท่าทาง หรือจังหวะที่น่าสนใจแล้ว ก็เท่ากับทุกอย่างมันสูญเปล่า


การเลือกฉาก
ฉากเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆที่ว่าไป เพราะการถ่ายสตรีทมีหัวใจอย่างหนึ่งคือการเล่าเรื่อง ถ้าพื้นหลังที่ดี ฉากที่ดี ก็จะส่งเสริมเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าให้ดีมากขึ้น ไม่ว่าฉากนั้นจะทำหน้าที่เล่าเรื่อง จะทำหน้าที่ขับให้ Subject โดดเด่นออกมา ก็ตาม หลักง่ายๆของการมองหาฉากอย่างเช่น
- ฉากที่สะอาดตา จะช่วยให้ Subject โดดเด่น ในกรณีที่เราต้องการเน้นที่ Subject

- ฉากที่แปลกประหลาด จะช่วยให้เรื่องราวในภาพน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

- ฉากที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวของ Subject จะช่วยให้เรื่องราวสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้ เป็นเบื้องต้นที่ต้องคำนึงถึงเลย เวลาจะฝึกถ่ายสตรีทให้สวย เราเชื่อว่าถ้าคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ได้ครบนะ อย่างน้อยจะเห็นพัฒนาการที่ดีของงานตัวเองแน่ๆ เราเองทุกวันนี้ที่ถ่าย ก็ยังพลาดอะไรบางอย่างในสิ่งเหล่านี้ ต้องคอยเตือนตัวเองเสมอเวลาออกไปถ่ายเช่นกัน ขอให้ทุกคนโชคดี ได้ภาพดีๆกลับบ้านกันทุกคน