บทความ/เรียบเรียง : อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล (SUN)
งานของ Martin Parr ช่างภาพชาวอังกฤษ มักเป็นที่ถกเถียงกันว่า เขาคือช่างภาพสตรีทหรือช่างภาพสารคดีกันแน่? บางคนก็ปฏิเสธที่จะเรียกเขาว่าเป็นช่างภาพสตรีทเลยด้วยซ้ำไป เพราะถ้านับเป็นภาพๆแล้ว ก็อาจจะมีไม่กี่ภาพเท่านั้นที่นับได้ว่าเป็นภาพสตรีทที่โดดเด่นอย่างมาก แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นช่างภาพประเภทไหนก็ตาม งานของ Martin Parr กลับมีบทบาทสำคัญ มีอิทธิพลกับช่างภาพมากมายกับทั้งวงการภาพสตรีทและภาพสารคดีตั้งแต่ยุค ’70s เป็นต้นมา
สำหรับเราแล้ว Martin Parr คือช่างภาพสารคดีที่วิธีคิดของเขา ช่วยให้การถ่ายภาพสตรีทของช่างภาพสตรีทแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ความตลกร้าย , สีจัดจ้านแบบ Pop Art , เทคนิคแพรวพราว , กราฟฟิค , ความประดักประเดิดของวัฒนธรรม ฯลฯ สอนให้เราเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับคนดูผ่านภาพถ่าย
Martin Parr เติบโตใน Surrey ประเทศอังกฤษ เขามักจะออกไปกับพ่อในวันหยุดเพื่อไปดูนก ซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดของพ่อ Parr บอกว่าแม้ว่าการเชื่อมโยงระหว่างการถ่ายภาพกับการศึกษานกนี่แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ ซ้ำซาก แต่นี่แหล่ะ..คือสิ่งที่ทำให้เขามองเห็นบางอย่างในนั้น การมองหาสิ่งพิเศษ (นกพันธุ์แปลกๆ) ในสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อ เหมือนเดิม ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ต้องคอยสังเกตว่ามันทำอะไรบ้าง ซึ่งมันเกี่ยวโยงไปถึงการถ่ายภาพสารคดี และในความธรรมดา น่าเบื่อนั้น เขาค้นพบสิ่งพิเศษผ่าน “ท่าทาง” และ “การเคลื่อนไหว” ของสิ่งมีชีวิต บางทีก็จะเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่แปลกๆของสิ่งมีชีวิต เหล่านี้…คือหัวใจของงาน Martin Parr ในเวลาต่อมา
Martin Parr ในวัยเด็ก มีกิจกรรมโปรดปรานของคนอังกฤษที่เรียกว่า Trainspotting คือยืนสังเกตรถไฟที่วิ่งเข้าออกสถานีแล้วจดหมายเลขที่ขบวนให้ทัน เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องไปถึงการสะสมต่างๆของเขา ไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด , ของชำร่วย , กระดาษวอล์เปเปอร์ และหนังสือภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้เขาคือหนึ่งในนักสะสมหนังสือภาพคนสำคัญของโลกเลย การที่เขามีงานอดิเรกที่เกี่ยวเนื่องกับของสะสมมากมาย ก็กลายเป็นการพัฒนาไปสู่งานภาพถ่ายของเขาเช่นกัน
ช่วงยุค 1960 เขาเดินทางไปรอบๆ Yorkshire กับคุณปู่ George Parr ซึ่งชอบถ่ายภาพ ระหว่างนั้นเองทำให้เขาเริ่มเก็บเกี่ยวเรื่องราวของวัฒนธรรมต่างๆของคนอังกฤษที่ยังยึดติดกับวิถีเดิมๆช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้วัฒนธรรมใหม่ๆเข้าไปไม่ถึงที่นั่น ภาพเหล่านี้เองที่ทำให้ Parr ประทับใจในความสวยงามแบบชนบทซึ่งมองผ่านมุมมองของคุณปู่ George

และสิ่งเหล่านี้เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานภาพถ่ายแนวร่วมสมัยของ Parr ในช่วง ’70s ที่เขาเริ่มต้นเข้าเรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพอย่างจริงจัง งานของ Parr เต็มไปด้วยเสน่ห์แบบลูกทุ่งๆชนบททางเหนือของอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอย ความไม่เท่าเทียมกันในยุคที่อุตสาหกรรมได้เริ่มปิดตัวลง ปัญหาทางสังคมเริ่มเกิดขึ้น

Martin Parr เริ่มถ่ายทอดออกมาเป็นภาพขาวดำในยุคแรกๆ โดยศิลปินที่มีอิทธิพลต่อเขาเป็นหลักก็คือ Tony Ray-Jones งานของ Jones แตกต่างไปจากช่างภาพชื่อดังในยุคเดียวกันอย่าง Lee Friedlander , Gary Winogrand , Robert Frank ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งอเมริกา รวมไปถึงแตกต่างไปจากงานของช่างภาพอังกฤษอย่าง Roger Mayne , Don McCullin ที่ค่อนข้างมีความดั้งเดิมด้วย

เขาเคยพูดถึงปีแรกในการเรียนถ่ายรูปจริงจังของเขา ว่าแม้จะเริ่มสนใจในวัฒนธรรมในชนบทของอังกฤษและเริ่มสร้างงานโปรเจคของตัวเอง (ซึ่งส่วนใหญ่ Parr จะใช้เวลาอยู่แถว Blackpool และ Manchester) แต่เขากลับพบว่า ภาพในปีแรกของเขามันช่างว่างเปล่า ไม่มีเนื้อหาอะไร ดังนั้น Parr จึงเริ่มค้นหาวิธีที่เขาจะต้องสื่อสารให้มากขึ้น เขาเริ่มจากไอเดียของซีรีย์ทีวีชื่อดังในยุค ’60s ที่ชื่อว่า “Coronation Street” ซึ่งมีตัวละครที่แทนความเป็นชาวบ้านอังกฤษทั่วไปในยุคนั้นอย่างตรงมาตรงไป เขาเริ่มมองหา Coronation Street ในชีวิตจริงและตามถ่ายครอบครัวต่างๆได้ 16 ครอบครัว จนกลายมาเป็นโปรเจคที่ชื่อว่า Home Sweet Home (1974) ซึ่งนับได้ว่า นี่คือโปรเจคเริ่มต้นของเขา


ในโปรเจค Home Sweet Home นั้น เขาไม่เพียงแต่แค่ถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังผสมผสานงานศิลปะอื่นๆเข้ามาประกอบกันด้วยเพื่องาน Exhibition ไม่ว่าจะเป็นนำเอาพวกของ Kitsch ของสะสมต่างๆ ของตกแต่งในบ้าน เพื่อให้งานของเขามีกลิ่นอายและรับรู้ได้ถึงวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
ช่วงต้น ’70s ถึงต้น ’80s Martin Parr ยังใช้ฟิล์มขาวดำและเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชนบทของอังกฤษเป็นหลัก โดยเฉพาะงานในชุด The Nonconformists , Beauty Spots , A Fair Day และ Bad Weather เป็นต้น ซึ่งงานชุดเหล่านี้ แสดงให้เห็นทิศทางของเขาในยุคต้นได้อย่างชัดเจนที่สุด รวมไปถึงการได้รับอิทธิพลจาก Tony Ray-Jones มาอย่างมากจนแทบจะเป็นการทำงานที่ดูเป็นการสานต่อกัน (ปัจจุบัน Martin Parr คือผู้ที่นำเอางานของ Tony Ray-Jones มาจัดแสดงร่วมกันกับงานของเขาเพื่อเป็นการ Tribute ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Only in England




ในยุคกลาง ’80s Martin Parr เปลี่ยนมาถ่ายภาพด้วยฟิล์มสี โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปินอย่าง William Eggleston , Joel Sternfeld ซึ่งเป็นศิลปินที่ถ่ายภาพในสถานการณ์ คนธรรมดาๆที่เห็นได้ทั่วไป แต่มีอะไรบางอย่างส่งผลต่อสิ่งอื่นๆได้ ซึ่งนั่นกลายเป็นที่มาจากซีรีย์ภาพสีที่ทรงพลังที่สุดของ Martin Parr นั่นคือ “The Last Resort”

โทนสีของ Parr นั้น มีแรงบันดาลใจมากจากโปสการ์ดในสมัยนั้นที่มีสีสันจัดจ้าน และสอดคล้องกับความชอบในของประเภท Kitsch ของเขาด้วย (พวกสินค้าถูกๆ สีสันจัดจ้าน ไม่รู้จะซื้อทำไม เช่น ของที่ระลึก ของใช้ถูกๆ เป็นต้น) ก็กลายเป็นทั้งความตลกร้าย และยังมีความเป็นแฟชั่นอยู่ในนั้นด้วย นั่นทำให้งานศิลปะของ Parr ไม่เคยเชยไปตามกาลเวลา และเกิดเป็นการพัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพสีที่แตกต่างออกไปจากศิลปินคนอื่นๆในยุคเดียวกัน

The Last Resort ว่าด้วยเรื่องในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำจากนโยบายของรัฐบาลอังกฤษในยุคนั้น ส่งผลให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก Parr พาเราไปมองผู้คนในชนชั้นแรงงาน โดยอาศัยฉากหลังคือ New Brighton ทะเลที่ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชนชั้นแรงงานในยุคนั้น และแม้ว่าดูจะเป็นเรื่องราวธรรมดาๆ แต่กลับบอกถึงวิถีชีวิตของคนอังกฤษได้อย่างลึกซึ้ง


งานของ Martin Parr สะท้อนให้เห็นภาพระหว่างชนชั้น จากตัวเขาเองซึ่งเป็นชนชั้นกลาง มองดูชนชั้นแรงงาน อย่างเช่นใน The Last Resort หรือจากชนชั้นกลางมองชนชั้นกลางด้วยกัน โดยมีพื้นหลังเป็นเรื่องปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจของอังกฤษ เขามีมุมมองตลกร้าย เสียดสีอย่างแหลมคม อาจจะมองผ่านอาหารจั๊งค์ๆในซีรีย์ Common Sense และ Real Food , บรรดาทัวร์นักท่องเที่ยวตามสถานที่ป๊อปๆใน Small World , ชนชั้นกลางในสังคมทุนนิยมอย่าง The Cost of Living




ยังมีงานอีกมากมายของ Martin Parr ให้ได้ศึกษากัน จะเห็นได้ว่าพื้นฐานงานของเขาเป็นงานสารคดีเป็นหลัก เพียงแต่หลายๆภาพนั้นมีเทคนิคของการถ่ายสตรีทที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญที่ Parr เองมักพูดเสมอนั่นคือ การพัฒนางานจากภาพเดี่ยวไปสู่การทำโปรเจคหรือซีรีย์นั้น คือสิ่งที่ช่างภาพควรศึกษาและทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการพัฒนางานของตัวเองแล้ว ยังทำให้เรารู้จักตัวตนของเราในเชิงศิลปะอีกด้วย
งานในยุคหลังๆของ Martin Parr ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นการตอบย้ำให้เราจดจำเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพนั้น ไม่ใช่เทคนิค (เพราะเขาเลยจุดที่คุยเรื่องเทคนิคไปหมดแล้ว) แต่หัวใจมันอยู่ที่ว่า “เราจะเล่าอะไร?” ต่างหาก และเขายังคงเล่าเรื่องความเป็น “อังกฤษ” แบบหยั่งลึกลงไปเสมอๆ จนกลายเป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ของอังกฤษในช่วงยุค ’70 เป็นต้นมา ด้วยภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน เสียดสี ซึ่งยังคงเป็นเอกลักษณ์ของเขาอย่างสม่ำเสมอ



ปัจจุบัน Martin Parr ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มช่างภาพ Magnum Photos คนล่าสุด และเป็นช่างภาพที่มีหนังสือภาพมากที่สุด ขายดีที่สุด และทำเงินจากการถ่ายภาพมากที่สุดในกลุ่มช่างภาพ Magnum Photos อีกด้วย