จากบทความของ Amateur photographer
แปล เรียบเรียง และ ภาพ โดย อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล (Sun)
ข้อแนะนำนี้ อยู่บนพื้นฐานของการถ่ายภาพที่อังกฤษ จากบทความ “Street photography and the law” ในเวบ Amateur photographer ซึ่งจริงๆแล้วก็ค่อนข้างสามารถนำมาปรับใช้กันได้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ลองมาศึกษากันดูจากบทความนี้
เตรียมพร้อมสำหรับการอธิบายว่าคุณคือใคร?
ในบางครั้งเราอาจจะต้องเจอคำถามของผู้คนที่อาจจะสงสัย หรือกลัวว่าคุณมาถ่ายภาพเขาทำไม? ถ้าพวกเขาสงสัย ก็พยายามอธิบายด้วยความสุภาพ พยายามหลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยความก้าวร้าว
ต้องรู้สิทธิ์ของตัวเองก่อน
โดยปกติแล้ว ตำรวจมีสิทธิ์ที่จะห้ามและค้นตัวคุณในกรณีที่สงสัยว่าคุณพกพาอะไรที่ก่ออาชญากรรมได้หรือเปล่า แต่ในทางตรงข้าม.. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ได้มีสิทธิ์อะไรแบบนั้น ไม่ว่าจะตรวจค้น หรือ สั่งให้คุณหยุดถ่ายรูป หรือจะสั่งให้คุณลบภาพใน SD Card จากการถ่ายภาพในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งถ้าพวกเขาทำแบบนั้นกับคุณ.. เขาเองที่กำลังทำผิดกฏหมาย
เคารพสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้อื่น
ในพื้นที่สาธารณะ คุณสามารถถ่ายภาพได้ตามกฏหมาย แม้แต่สิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่คุณจะต้องเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคลด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณถ่ายภาพบ้านผู้อื่นจากบนถนน (ซึ่งสามารถถ่ายได้ เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลที่สามารถเห็นได้จากพื้นที่สาธารณะ) แต่สามารถมองเห็นผ่านหน้าต่างชั้นบนว่า คนในบ้านกำลังแต่งตัวอยู่ แบบนี้คุณสามารถถูกฟ้องละเมิดสิทธิ์ได้เช่นกัน
อย่าลืมอ่านป้ายประกาศต่างๆ
ส่วนใหญ่เวลาที่เราไปงานอีเว้นท์ เช่น คอนเสิร์ต , โรงหนัง เป็นต้น สถานที่เหล่านี้มักจะไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ การที่คุณละเมิดข้อห้ามของสถานที่เหล่านี้ ก็อาจจะเป็นการละเมิดข้อกฏหมายได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะอ่านป้ายประกาศหรือข้อกำหนดของงานเหล่านี้ก่อนด้วย
ปลอดภัยไว้ก่อน
คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเป็นพิเศษในการที่จะถ่ายภาพเด็กๆในสถานที่สาธารณะก็จริง (ขึ้นกับว่าคุณไม่ได้ใช้ภาพนี้ในเชิงการค้าและเป็นภาพที่ผิดกฏหมาย) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในกรณีนี้คุณก็ควรได้รับการอนุญาตจากพ่อแม่เด็กก่อน ( *ผู้เรียบเรียง* ในประเทศยุโรปส่วนใหญ่ พ่อแม่เด็กมักจะระแวงและไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพลูกๆของพวกเขาเลย )
ระมัดระวังเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ในกรณีที่คุณถ่ายภาพนอกประเทศของคุณ ต้องระมัดระวังเรื่องข้อบังคับหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ (รวมไปถึงกฏหมายที่จะเกี่ยวข้องกับคุณเอง) และเกี่ยวกับศาสนาก็เช่นกัน มักจะมีข้อบังคับต่างๆ อย่างการถ่ายภาพในมัสยิด , โบสถ์ หรือสถานที่ทางศาสนาอื่นๆ
หลีกเลี่ยงการกีดขวางการจราจร
เวลาที่คุณถ่ายภาพในที่สาธารณะ บางครั้งอุปกรณ์ของคุณอาจจะไปกีดขวางทางได้ ซึ่งตำรวจอาจจะตักเตือนในกรณีที่คุณกีดขวางการจราจรได้เช่นกัน
ระมัดระวังเรื่องเนื้อหาคำพูดที่จะปรากฏในภาพ
สมมติว่าคุณถ่ายภาพผู้ชายตัวใหญ่กำลังเดินผ่านป้ายโฆษณาร้านอาหาร ซึ่งเขียนเอาไว้ว่า “เจ้าอ้วนกินพายทั้งหมดนี่” แบบนี้อาจจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้เช่นกัน
ระวังโจร
ถ้าเป็นไปได้ คุณควรอย่าให้อุปกรณ์อยู่ห่างจากตัวคุณ หรือเก็บอุปกรณ์ของคุณให้ปลอดภัยจากการขโมย หรือปล้น
ยึดหลักพื้นที่สาธารณะ
ถ้าคุณเองและสิ่งที่คุณถ่ายอยู่ในพื้นที่สาธารณะ โดยปกติแล้วคุณไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตในการถ่ายภาพเลย แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างเช่น ถ้าสิ่งที่คุณถ่ายมันค่อนข้างส่วนบุคคล หรืออยู่ในกิจกรรมส่วนบุคคล (เช่น เขาเดินออกมาจากโรงพยาบาล) คุณจำเป็นจะต้องเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคล ถ้าคุณคิดว่าจะขายภาพนี้ ภาพนี้ก็ควรจะถูกใช้เฉพาะในงานเกี่ยวกับบทความ หรือก็ควรได้รับการอนุญาตจากแบบเพื่อการโฆษณา เป็นต้น
แบบฟอร์มการขออนุญาตจากนายแบบ/นางแบบและสถานที่
ถ้าคุณมีเป้าหมายแน่ชัดในการที่จะใช้ภาพในการโฆษณา จำเป็นที่จะต้องมีแบบฟอร์การขออนุญาต (Model , Property release) ซึ่งจะต้องให้แบบเป็นผู้เซ็นต์ (สามารถปริ๊นท์แบบฟอร์มได้ที่ www.the-aop.org ) ในส่วนของบริษัทที่ใช้ภาพเหล่านี้เพื่อการโฆษณา ต้องไม่ละเลยที่จะตรวจตราให้มีเอกสารการขออนุญาตกำกับด้วยทุกครั้ง แต่ในอีกกรณีนึงคือ ถ้าในภาพไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นใคร หรือสถานที่ไหน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์มนี้
เอาให้ชัดเจนว่าอะไรคือ “พื้นที่สาธารณะ”
ห้าง , สวน , โบสถ์ , สถานีต่างๆ อาจจะเข้าใจว่าเป็นพื้นที่สาธารณะแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานที่เหล่านี้ส่วนใหญ่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้นคุณมีสิทธิ์ที่จะถูกเชิญออกโดยไม่สามารถแย้งในเชิงเหตุผลได้
ข้อควรระวังเมื่อต้องถ่ายในพื้นที่ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ
การใช้ขาตั้งกล้อง (และแฟลช) ไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสถานีขนส่งต่างๆ อย่างขนส่งมวลชนในลอนดอนเอง จะมีกฏข้อบังคับเกี่ยวกับการถ่ายภาพโดยเฉพาะเลย ซึ่งจะมีให้อ่านในเวบ www.tfl.gov.uk เป็นต้น หรืออย่างการถ่ายภาพในสนามบินที่มากกว่าแค่การสแนปทั่วไป ก็จำเป็นจะต้องทำเรื่องขออนุญาต รวมไปถึงการถ่ายภาพในพื้นที่ที่ถูกจำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ในสนามบิน หรือพื้นที่รักษาความปลอดภัย ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงเป็นต้น
ข้อควรระวังในกฏพิเศษบางข้อ
สถานที่ Landmark ต่างๆ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ แต่มักจะมีข้อกฏหมายบางข้อป้องกันไม่ให้มีการถ่ายภาพเพื่อนำไปเพื่อการค้า แต่ถ้าถ่ายเพื่อเป็นงานทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร
ศึกษากฏหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติม
เมื่อคุณสร้างสรรค์งานของตัวเอง อย่างเช่น งานปั้น งานจิตรกรรม หรืองานภาพถ่าย โดยปกติแล้วงานเหล่านี้จะถูกปกป้องโดยกฏหมายลิขสิทธิ์อัตโนมัติ ผลที่ตามมาก็คือ ถ้าคุณถ่ายภาพบนท้องถนนแล้วในภาพนั้นมีปรากฏงาน Artworks ต่างๆ อย่างเช่นโลโก้แบรนด์สินค้า ปรากฏในตำแหน่งชัดเจน ซึ่งถ้าคุณจะนำภาพนั้นไปในเชิงการค้า จะต้องทำเรื่องขออนุญาตทางแบรนด์สินค้านั้นก่อน
อย่าทำตัวเป็นที่น่าสงสัย
ต้องระมัดระวังเมื่อไปถ่ายภาพใกล้บริเวณที่เป็นสถานที่ราชการ อย่างเช่น ฐานทัพทหาร หรือสถานีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น เป็นธรรมดาที่ตำรวจจะสงสัยในเบื้องต้นว่าใครที่อาจจะมีแนวโน้มพฤติกรรมเชิงก่อการร้าย โดยปกติก็อาจจะมีภาพมากมายที่ถ่ายสถานที่เหล่านี้ เช่น รัฐสภา แต่คุณก็ไม่ควรยืนถ่ายนานเกินไปจนเป็นที่น่าสงสัย