“ศิลปะคือการปลอมความจริงขึ้นมา” พาโบล ปิกัสโซ
ถ้าเปิดดูคำว่า Street Photography ในวิกิพีเดีย จะเจอคำนิยามที่ว่า “…เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ของการถ่ายภาพสารคดี” แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรอ? การถ่ายภาพสตรีทและภาพสารคดีต่างก็มีรูปแบบที่พวกเราพอรู้จักกันอยู่แล้ว ทำไมบางทีเราถึงแยกการถ่ายภาพสองประเภทนี้ไม่ค่อยออกล่ะ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายภาพสองประเภทนี้มีความคล้ายคลึงกันอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆภาพสตรีทอาจถูกตีความได้ว่าเป็นภาพสารคดี เพราะเป็นการจับจังหวะที่เกิดขึ้นจริงของบุคคลในเวลานั้น ซึ่งสิ่งที่คล้ายกันก็มีอยู่แค่นั้นล่ะ
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามนี้มาจากปรมาจารย์ด้านสตรีทอย่าง Henri Cartier-Bresson ที่เป็นช่างภาพผู้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยใช้ภาพเล่าเรื่อง (Photojournalist) ปู่ HCB ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นช่างภาพสตรีท แล้วก็ยังบอกว่าไม่ค่อยสนใจการถ่ายสารคดีจ๋าอีกด้วย แต่ภาพของ HCB นั้นน่าทึ่ง และเป็นต้นแบบให้ช่างภาพสตรีทรุ่นใหม่ได้ศึกษาอยู่เสมอ โดยเฉพาะในนิวยอร์ค
ภาพของ HCB ที่ถ่ายเหตุการณ์บนท้องถนนนั้นมีการจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างละเอียด ถี่ถ้วน และเป็นต้นแบบของการจับจังหวะภายในเสี้ยววินาที (Decisive moment) จังหวะที่พอดีเป๊ะๆจะทำให้ภาพมีพลังมหาศาล การต่างกันแค่วินาทีเดียวไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลัง ความหมายของภาพก็จะเปลี่ยนไป HCB บอกว่า สำหรับเขาแล้ว การถ่ายภาพคือการจินตนาการก่อนว่ากำลังจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เตรียมมุมมองได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ภาพของเขาจึงเป็นมากกว่าการจับจังหวะทั่วไป หรือภาพสารคดีแท้ๆ
ภาพในตำนานของ HCB ที่ตอบคำว่า Decisive Moment ได้ชัดเจน จังหวะเสี้ยววินาทีที่ขานั้นยังไม่เหยียบพื้นน้ำ / © Henri Cartier-Bresson/Magnum Photos
การถ่ายภาพสตรีทไม่ใช่การถ่ายภาพบุคคลเสมือนจริง (Portraiture) ไม่ใช่การถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (Still Life) หรือการถ่ายภาพทิวทัศน์ (Landscape) การถ่ายสตรีทอาจต้องใช้สัญชาตญาณ เพราะเราไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ มันไม่มีการจัดฉาก และภาพส่วนใหญ่คือการถ่ายทีเผลอ (Candid) การถ่ายทีเผลอในที่นี้หมายความว่าตัวแบบไม่รู้ตัวในจังหวะที่ถูกถ่ายเลยด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่แล้วตัวแบบมักเป็นบุคคลแปลกหน้าเสมอ และแก่นของงานสตรีทคือการสร้างสรรค์เรื่องราวเสริมตัวแบบนั้นๆมากกว่าการจับความจริงล้วนๆอย่างเดียว ความต่างระหว่างการถ่ายสตรีทกับสารคดีข้อนี้อธิบายได้ยากแต่สำคัญมาก
กฎเหล็กของภาพสตรีทคือมันต้องเป็นภาพที่แปลกตาและดูเหนือจริง ภาพสตรีทมักสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวแบบกับสิ่งรอบข้างในแบบที่ไม่ใช่ความจริงเท่าไหร่นัก เรามักเห็นการเชื่อมโยงเหล่านี้ผ่านการวางข้างกันเพื่อเปรียบเทียบ (Juxtaposition) การเลือกวางเฟรมและจังหวะ เพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ การขออนุญาตคนบนท้องถนนเพื่อถ่ายภาพคือการถ่ายภาพบุคคลจริง หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวแบบให้ความร่วมมือ มีการจัดท่าทางของตัวแบบ ภาพเหล่านั้นไม่ใช่การถ่ายภาพสตรีท เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพสารคดีที่ถ่ายเน้นความเป็นจริงของตัวบุคคลคงเรียกได้ ไม่เต็มปากว่าเป็นภาพสตรีท ถ้าเรียกภาพสารคดีเช่นนี้ว่าภาพสตรีทก็ดูจะขัดใจอยู่หน่อยๆ
งานของปู่ Elliot แสดงให้เห็นวิธีที่สตรีทบิดเนื้อหาจากความเป็นจริงออกไปอย่างไร // © Elliott Erwitt/Magnum Photos
ภาพสตรีทไม่จำเป็นต้องเล่าด้วยความจริงล้วนๆ บางครั้งภาพสตรีทที่ดี ยิ่งต้องเป็นภาพที่หลอกตาเราเพื่อสื่อความหมายอะไรบางอย่าง เหมือนกับคำกล่าวของปิกัสโซที่กล่าวไว้ข้างต้น ภาพสตรีทคือการสร้างเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดตัวตนของช่างภาพ และการถ่ายภาพสตรีทเน้นความเป็นศิลปะมากกว่าการถ่ายทอดความจริง ดังนั้นภาพสตรีทไม่ใช่ภาพสารคดีแท้ๆ หรือภาพที่ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง อย่างที่ช่างภาพสมัครเล่นหลายคนมักเข้าใจผิดกัน