Robert Frank , Lee Frielander, William Eggleston หรือ Joel Sternfeld คือรายชื่อส่วนหนึ่งของช่างภาพระดับตำนานตลอดศตวรรษที่ 20 ที่ออกเดินทางและบันทึกเรื่องราวในแบบของพวกเขาจากรุ่นสู่รุ่น รวมไปถึงเด็กหนุ่มจากมินนิโซต้าคนหนึ่ง ที่เมื่อครั้งเขาไปเรียนวาดภาพในโรงเรียน และ Joel Sternfeld หนึ่งในช่างภาพระดับตำนานนั้นได้มาเลคเชควิชาพิเศษที่โรงเรียนของเขา Joe ได้โชว์ผลงานมาสเตอร์พีซ “American Prospects” รวมไปถึงโชว์เบื้องหลังการเดินทางบนรถตู้เพื่อถ่ายทำผลงานทั้งหมดไปทั่วประเทศให้นักเรียนดู ช่วงเวลาที่แสนวิเศษสั้นๆนั้นเอง กลายเป็นการจุดไฟในตัวของเด็กหนุ่มคนนั้นให้ลุกโชน
ถ้าคุณพลิกดูภาพสักหนึ่งภาพใน Sleeping by the Mississippi คุณอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นภาพถ่ายที่แสนธรรมดา ผิดกับการที่คุณอาจจะเคยดูงานของ Joe Sternfeld หรือ Stephen Shore สักภาพ แม้ไม่ต้องดูติดกันหลายๆภาพ มันก็ดูช่างน่าตื่นตาตื่นใจในความงดงามนั้น ที่ถ่ายทอดด้วยกล้อง Large Format ที่เก็บรายละเอียดและแสงสีที่งดงามที่สุด แต่สำหรับภาพชุดนี้.. มันอาจจะไม่ใช่แบบที่คุณคาดหวังจากเขาเหล่านั้น
Alec Soth ตีพิมพ์หนังสือภาพ Sleeping by the Mississippi ครั้งแรกด้วยตัวเขาเองเมื่อปี 2004 มันเป็นผลงานอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของเขาเช่นกัน และมันก็ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะภาพถ่ายร่วมสมัยในเวลาต่อมา รวมไปถึงการได้ถูกเสนอชื่อเป็นช่างภาพของเอเจนซี่ Magnum ด้วย
ปัจจุบันหนังสือภาพ Sleeping by the Mississippi ในเวอร์ชั่นแรก กลายเป็นของสะสมและราคาสูงในตลาด เพิ่งจะมีการตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ MACK เมื่อปี 2017
แม้งานของ Monet จะปฏิวัติวงการภาพวาดเพียงใด แต่ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ของการเลียนความจริง และยังไม่เกิดการวิพากษ์โดยปัจเจกชน | 1919 Claude Monet : http://www.metmuseum.org
Bertien Van Manen เธอเกิดในปี 1942 ปีที่สงครามกำลังร้อนระอุ ท่ามกลางครอบครัวคนงานเหมือง และเธอคือช่างภาพชาวดัทช์ที่หลงใหลในงานของ Robert Frank ช่างภาพชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่สร้างผลงานภาพถ่ายสารคดีครั้งสำคัญให้กับอเมริกันชน “The Americans” เมื่อปี 1958 แน่นอนว่าเมื่อคุณตกหลุมรักในงานของ Robert Frank คุณย่อมตกหลุมรักในการเดินทาง เสพติดความเจ็บปวดของชีวิตมนุษย์ไปด้วย
Bertien ไม่ได้เริ่มต้นถ่ายภาพมาแต่เด็กเหมือนช่างภาพอาชีพหลายๆคน แต่กว่าจะเริ่มถ่ายภาพเป็นอาชีพก็ล่วงเลยมาในวัย 30 ต้นๆแล้ว และเริ่มต้นด้วยงานภาพถ่ายแฟชั่นเพื่อหาเลี้ยงชีพ จิตวิญญาณแห่งการเดินทางของเธอในแบบ Robert Frank ไม่เคยจางหายไป มันยังคงคุกรุ่นอยู่เสมอท่ามกลางชีวิตอันเรียบง่ายในเนเธอร์แลนด์
I will be Wolf คือผลงานแรกของเธอ ก่อนที่จะเดินทางข้ามทวีปไปไกล ภาพขาวดำที่เริ่มต้นถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม 1975 ว่าด้วยชีวิตอันแสนธรรมดาในเมืองหลวงของฮังการี ภายใต้การปกครองของโซเวียต ก่อนที่จะถึงยุคที่โลกทั้งโลกถูกเชื่อมถึงกันอย่างง่ายดาย ถ่ายด้วยกล้องแสนธรรมดา ชีวิตคนธรรมดา แต่ว่ามันกลับสะท้อนความรู้สึกของเธอผ่านภาพขาวดำทั้งหมดนั่น
งานช่วงแรกของเธอมักสื่อสารในเชิงสังคม ความไม่เท่าเทียม และเป็นจุดเริ่มต้นที่งานของเธอมักเกี่ยวพันกับบทกวี ดังเช่นผลงาน I will be Wolf ที่ผสมผสานงานบทกวีของศิลปินชาวฮังการีเข้าไว้ด้วย ( ชื่อ I will be Wolf นำมาจากบรรทัดหนึ่งในบทกวี Grief ปี 1929 ของศิลปินที่ชื่อว่า Józef Atilla)
เป็นธรรมดาที่ช่างภาพดังๆหลายคนจะเคยถ่ายงานให้กับแบรนด์เสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็น Martin Parr กับ Gucci หรือ Harry Gruyaert กับ Hermes แต่การร่วมมือกันโดยนำภาพของศิลปินนั้นๆมาทำลงบนเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยครั้ง เมื่อช่างภาพที่เราชื่นชอบกระโดดลงไปร่วมวงด้วยก็ทำให้กิเลสของช่างภาพสายสตรีท(แวร์)อย่างเราๆนั้นพุ่งขึ้นมาทันทีด้วยคำติดปากว่า “ของมันต้องมี” ไปดูกันว่ามีใคร เคยทำกับแบรนด์อะไรกันบ้าง
Martin parr x Paul Smith
สองผู้ยิ่งใหญ่จากประเทศอังกฤษเคยทำงานร่วมกันมาแล้วหลายครั้งโดยครั้งหนึ่ง Smith เคยเป็นคนจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายของ Parr ขึ้นที่ญี่ปุ่น ก่อนที่ทั้งสองจะสนิทเข้าใจงานซึ่งกันและกัน ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไรเพราะ Smith ก็ถือว่าเป็นหัวหอกของวงการแฟชั่นที่นำเทคนิคการปริ้นภาพถ่ายมาใช้กับเสื้อผ้าของเค้าและ Parr เองก็เป็นช่างภาพสตรีทที่ดังในเรื่องการถ่ายทอดมุมมองที่มีอารมณ์ขันแบบคนอังกฤษมาใช้ในงานภาพถ่ายอยู่แล้ว โดยงานร่วมมือกันครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของงานPhoto London และได้วางขายแบบสุดพิเศษที่Dover Street Market เท่านั้น เสื้อผ้าชุดนี้ได้ออกมาสำหรับชายหาดโดยParrได้บอกว่า “นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้รูปชายหาดของเค้ากลับไปสู่ชายหาดจริงๆ”
Martin Parr X House of Holland
ยังคงอยู่กันที่ลุง Parr เหมือนเดิมกับHouse of Holland แบรนด์จากประเทศอังกฤษ ที่ร่วมมือกันโดยได้รับแรงบรรดาลใจมาจากผลงานภาพถ่ายและรสนิยมทางศิลปะแบบกวนๆของลุงมาออกแบบให้กับเสื้อผ้าคอลเลคชั่นนี้ โดยกิมมิคเล็กๆคืองานนี้เค้าจงใจใช้ #MartinFuckingParr เพื่อไปล้อกับ #JohnnyFuckingMarr มือกีตาร์คนดังจากวง The Smiths อีกด้วย ความกวนระดับตัวพ่อมันก็ต้องแบบนี้แหละ
มีArakiแล้วลุง Daido Moriyama จะไม่มีมาได้ไงเจ้าพ่อกล้องเล็กRicoh Gr(แถมยืมเพื่อนมาอีก) จับมือกันทำเสื้อผ้ากับ wacko maria แบรนด์สตรีทแวร์จากญี่ปุ่นโดยตัวผู้ก่อตั้งคือคุณ Nobuhiro Mori และ Keiji Ishizukaตั้งใจออกแบบเสื้อผ้าโดยเอาแรงบันดาลใจมาจาก ศิลปะ ภาพยนตร์และดนตรีเป็นที่ตั้ง โดยคอลเลคชั่นนี้วางขายเมื่อFall/Winter ปี61ที่ผ่านมา เน้นไปที่งานภาพถ่ายขาวดำที่ถ่ายรอบๆบริเวณคลับเปลือยตามซอกซอยของญี่ปุ่นมาปริ้นลงบนเสื้อผ้าได้อย่างสวยงาม
BOOGIE X V/SUAL
Vladimir Milivojevich หรือที่พวกเรารู้จักกันในนาม Boogie ช่างภาพจากเซอร์เบียที่ย้ายมาอยู่และสร้างผลงานมากมายที่นิวยอร์ก เป็นอีกหนึ่งช่างภาพที่ขึ้นชื่อเรื่องthug life เพราะแต่ละงานสารคดีที่เค้าถ่ายคัดมาแต่เรื่องเดือดๆทั้งนั้น อยากให้ไปชมกันเองในหนังสารคดีที่มีชื่อว่าEverybody Street ซึ่งการทำcollaborationกับแบรนด์V/SUAL นี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเพราะผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้คือ Stephen Vanasco หรือVan Styles ช่างภาพสายสเก็ตบอร์ดชื่อดังที่ตัวงานก็ดุดันไม่แพ้กันเลย ออกมาทั้งเสือยืดและสเก็ตบอร์ดที่ปริ้นรูปของBoogieลงไปในโทนขาวดำ
ถ้าให้พูดถึงงานภาพชุดประเภท Family Project ในโลกนี้ที่ดีๆ คงหยิบยกมาพูดกันได้ไม่รู้จบ แม้ว่ามันดูเป็นงานที่ Personal เอามากๆ แต่ถึงกระนั้นก็กลับเป็นงานที่คนทั่วไปสัมผัสมันได้ง่ายด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ปี 1992 เป็นครั้งแรกของงานที่ชื่อว่า “Pictures of home” ของ Larry Sultan ถูกตีพิมพ์ มันขายหมดไปอย่างรวดเร็วพร้อมคำชมล้นหลาม และก็กลายเป็นงานโฟโต้ขึ้นหิ้งที่ถูกพูดถึงเสมอมา แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2009
25 ปีนับจากการตีพิมพ์ครั้งแรก ภรรยาของ Larry ได้ให้ทางสำนักพิมพ์ MACK ตีพิมพ์ Pictures of home อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่สองที่ถูกตีพิมพ์ หลังการรอคอยจากแฟนๆมายาวนาน
Edition นี้มันถูกเรียบเรียงใหม่ด้วยการผสมผสานด้วยสื่อที่หลากหลาย ตั้งแต่บทความ บทสัมภาษณ์ งานภาพถ่ายของเขาเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตเทตจากหนังครอบครัวที่ถูกถ่ายโดยพ่อของ Larry ซึ่งถูกใส่เข้ามาเพิ่มเติมเพื่ออธิบายเรื่องราวต่างๆของครอบครัว Sulton ให้ชัดเจนที่สุดตามแรงบันดาลใจแรกของ Larry เอง
ณ บ้านพัก Desert Community ใกล้ย่านปาล์มสปริงส์ บ้านพักหลังเกษียณของพ่อและแม่ของ Larry อันเป็นจุดกำเนิดของงานชุดนี้ เขาเริ่มโปรเจคนี้ตั้งแต่ปี 1982 ครั้งที่เขาไปเยี่ยมพ่อแม่ที่นั่น ในค่ำคืนนั้นแทนที่พวกเขาจะนั่งดูหนังที่เช่ามาด้วยกัน แต่พวกเขากลับค้นเอาฟุตเทตเก่าๆของครอบครัวที่ถ่ายกันไว้ออกมาดู ซึ่งไม่ได้เห็นกันมานานหลายปีดีดัก
“แกถ่ายรูปไปเป็น 20-30 ม้วน เพื่อรูปที่แกชอบรูปสองรูป มันไม่ทำให้แกลำบากใจเหรอ?” “ไม่เลยครับ ผมชอบถ่ายภาพ แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้รูปแย่ๆก็ตาม” Larry ตอบพ่อของเขาไป
ประเด็นจริงๆแล้วรูปส่วนใหญ่ที่ Larry เลือก มักจะเป็นตัวสร้างความปวดหัวซะมากกว่ารูปที่ทิ้งซะอีก เพราะเขากลัวว่ารูปเหล่านี้จะทำให้พ่อรู้สึกไม่โอเค ครั้งหนึ่ง Larry เคยถ่ายภาพแม่ ซึ่งมันก็เป็นภาพธรรมดาๆ ภาพที่แม่คืออยู่ที่ประตูกระจกเลื่อน และถือถาดเงินที่ใส่ไก่งวงไว้ด้วย พ่อหาว่าเขาถ่ายภาพที่ไม่ค่อยจะเห็นแม่เลย นั่นทำให้พวกเขาเถียงกัน ในสถานะที่ต่างกัน นี่คือแม่ของ Larry ในขณะเดียวกันก็เป็นภรรยาของพ่อ Larry
นอกจากคนดูจะได้รู้จักครอบครัว Sultan ประหนึ่งงานสารคดีแล้ว เรายังได้เข้าใจวิธีการทำงานของ Larry ผ่านการจดบันทึก ร่างไอเดียและปากคำของเขาเอง นั่นทำให้ยิ่งเข้าใจความรู้สึกต่อผลงาน Pictures from home อย่างละเอียด แตกต่างไปจาก Edition แรก หรือกับหลายๆงานหลายๆศิลปินที่ไม่มีบทความหรือคำอธิบายอะไรมากนัก หรือมีเพียงถ้อยคำที่คนดู ซึ่งเป็นคนนอกจะตีความไปต่างๆนานา
นอกจากการปฏิวัติวงการภาพข่าวของเอเจนซี่ช่างภาพ Magnum ในช่วงทศวรรษที่ 1940s แล้ว ยังมีช่างภาพอีกหลายคนที่นำพาให้เกิดงาน แนวทางใหม่ของการถ่ายภาพในช่วงเวลาเดียวกันนั้น
ในขณะที่ Robert Capa ช่างภาพผู้ให้กำเนิดเอเจนซี่ Magnum อันยิ่งใหญ่และเป็นผู้พลิกวงการการถ่ายภาพข่าวสงครามโดยการเข้าไปถ่ายภาพปฏิบัติการหาดโอมาฮาในวัน D-Day นั่นเพียงในฐานะของช่างภาพที่กองทัพอนุญาตให้เข้าร่วมในเหตุการณ์เฉพาะวันนั้นเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าเสี่ยงตายมากพอแล้ว
แต่สำหรับ Tony Vaccaro หนุ่มน้อยวัย 21 ปี เขานำพาตัวเองไปไกลกว่านั้น การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทหารของกองทัพเพื่อร่วมรบ คือการพาตัวเองเข้าไปถ่ายภาพท่ามกลางสนามรบโดยไม่มีใครห้ามได้อย่างแท้จริง และนี่คือการถ่ายภาพสงครามที่ยังไม่เคยมีใครได้เข้าใกล้ความตายได้มากไปกว่าเขา
Tony Vaccaro ในวัย 21 ปี
จะว่าไม่มีใครห้ามก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้ว กองทัพสั่งห้ามให้ถ่ายรูปในระหว่างรบ แม้ว่าจะเป็นทหารก็ตาม และกล้องถ่ายรูปจะถูกทำลายทิ้งเสียด้วย แต่มันก็ไม่ใช่วิธีที่จะเหนี่ยวรั้งให้ Tony ไม่ออกไปถ่ายภาพได้
Tony ฝ่าพัน ถากดายทุกย่างก้าวในสมรภูมิรบด้วยปืนไรเฟิลประจำตัวในฐานะทหารราบ และเก็บเกี่ยวซากปรักหักพังแห่งสงครามผ่านเลนส์กล้องประจำตัวของเขาในฐานะศิลปินไปพร้อมๆกัน
งานภาพสงครามของ Tony จับเอา “ห้วงเวลาแห่งความตาย” ได้อยู่หมัด และสามารถเล่ารายละเอียดของสงครามนั้นๆได้อย่างยอดเยี่ยมโดยที่ไม่มีการจัดฉากเพื่อถ่าย ทุกภาพเกิดขึ้นจริงแบบ Real-time แม้ว่าจะมีช่างภาพคนอื่นๆในสงครามอีกหลายต่อหลายคน แต่พวกเขามักนิยมการจัดฉากอยู่บ้างเพื่อให้ได้ภาพสวยงามอย่างที่ต้องการ แต่ Tony ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
ตลอด 272 วันในสงครามครั้งนั้น เขาถ่ายภาพไปกว่า 8,000 ภาพ และกองทัพไม่เคยใช้ภาพของเขาสำหรับเป็นหลักฐานหรือชิ้นงานเกี่ยวกับสงครามอย่างเป็นทางการเลย เพียงเพราะเห็นว่าเขาเป็นเพียงหนุ่มน้อยวัย 21 ที่ไม่รู้ประสีประสาเท่านั้น หลังจากสิ้นสุดสงครามโลก Tony ก็หันมาทำงานเป็นช่างภาพอย่างจริงจัง ปี 1950 เขาเริ่มทำงานให้กับ Life Magazine และนิตยสารแฟชั่นหัวใหญ่ๆอีกหลายฉบับในเวลาต่อมา
ด้วยทัศนคติของเขาต่อสงครามอันโหดร้าย Tony ตัดสินใจที่จะไม่เผยแพร่งานของเขา ปิดประตูล็อคงานเหล่านั้นไว้และมุ่งมั่นจะสร้างสรรค์เพียงงานภาพถ่ายที่สวยงามแทนที่ภาพถ่ายที่หดหู่เหล่านั้นแทน