ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนิดนึงว่า บทความนี้ชื่อว่า Making Street Photography Pay ถูกส่งมาให้เราอ่านโดย กบ แอดมินของ สยาม.มนุษย์.สตรีท อีกคน ซึ่งเราเห็นว่าน่าสนใจมาก มันเป็นคำถามเสมอเมื่อได้คุยกับช่างภาพสตรีทไม่ว่าจะมุมไหนของโลกคือ งานภาพสตรีท มันเป็นอาชีพได้หรือเปล่า? เพราะงานสตรีทเป็นงานที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มเอามากๆ
Nick Turpin คือช่างภาพสตรีทระดับแถวหน้าของโลกคนหนึ่งในยุคสมัยใหม่ เป็นหนึ่งในช่างภาพกลุ่ม iN-PUBLIC ซึ่งเป็นกลุ่มสตรีทที่ขับเคลื่อนวงการสตรีทสมัยใหม่มาจะยี่สิบปีแล้ว และเป็นผู้เขียนบทความนี้ เขียนจากประสบการณ์ที่เป็นช่างภาพสายโฆษณา ในบทความนี้ Nick จะอธิบายวิธีคิดของเขาเองที่เอาความรักในการถ่ายภาพสตรีท ไปผสมผสานในงานถ่ายภาพโฆษณาอย่างไรให้ลงตัว ทำให้เขาได้ทำทั้งในสิ่งที่รัก และยังเป็นอาชีพที่มีความสุขไปด้วยได้ นี่น่าจะเป็นอีกความคิดเห็นนึงทที่เป็นไอเดียที่ดีมากสำหรับชาวเนิร์ดอย่างพวกเรา
Thank you Nick for your permission to translate this interesting article.
บทความโดย Nick Turpin
แปล/เรียบเรียง Sun สยาม.มนุษย์.สตรีท

บ่อยครั้งที่ผมมักจะคิดว่า การถ่ายสตรีทนั้นมันเป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่ดูทำเป็นงานเชิงพาณิชย์ได้น้อยที่สุดแล้วในบรรดาการถ่ายภาพแนวอื่นๆ แต่ด้วยแนวทางนี้ผมก็ยังเลี้ยงตัวเองได้อย่างดีมาตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาด้วยพอร์ทงานแนวทางถ่ายภาพสตรีท ผมเลยอยากจะลองอธิบายว่าทำอย่างไร? ที่จะแปลงไอ้สิ่งที่ผมชอบถ่ายตามท้องถนนนี้ ให้มันกลายเป็นงานถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ได้
ประเด็นสำคัญของการถ่ายภาพแนวสตรีทคือการจัดการกับ “ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น” และมีภาพถ่ายที่เล่าเรื่องความจริงนั้นออกมาแบบไม่ปรุงแต่งอะไร ในขณะที่งานโฆษณานั้น ส่วนใหญ่เป็นงานที่ถูกตกแต่งให้ดูแฟนตาซีหรือบางทีก็ตกแต่งให้เรื่องจริงนั้น มันดูจริงแบบประดิษฐ์ๆ ช่างภาพงานโฆษณาทั่วๆไป ถูกจ้างไปในเชิงพานิชย์ศิลป์ และปรับแต่งงานเพื่อให้งานมันดูมีสีสัน สวยงามเกินความเป็นจริง ดูโดดเด่นและทำให้มันขายได้
เราจะทำอย่างไรให้มันกลมกลืนกันอยู่ในความเป็นช่างภาพสตรีท?
ผมพูดตรงๆเลยว่า มีน้อยคนมากที่สามารถรวมสองด้านนี้เข้าไว้ด้วยกันได้ ถ้าไม่นับช่างภาพที่เป็นคนจัดเวิร์คชอป ผมนึกถึงช่างภาพสตรีทสักสามคนที่สามารถทำงานให้กับลูกค้างานโฆษณาได้ และขายงานได้ทั่วโลก! นั่นหมายความว่า ถ้าคุณอยากจะร่วมหัวจมท้ายในกลุ่มเล็กๆนี้ คุณจะต้องมีวิธีการมองภาพที่พิเศษเอามากๆ มีสายตาที่มองอะไรไม่เหมือนใคร ซึ่งจะต้องทำให้ได้ดีพอๆกับช่างภาพอื่นๆที่สามารถยืนอยู่ในธุรกิจโฆษณานี้ได้ เข้าใจการตลาด เข้าใจบรีฟลูกค้า เข้าใจโปรดักชั่น สามารถทำงานเข้ากันได้กับเอเจนซี่โฆษณาทั้งหลาย ทำงานตามกำหนดเวลาได้ คุณจะต้องพัฒนาการทำงานของคุณให้เข้ากับระบบ และไอเดียต่างๆ บรีฟงานต่างๆที่มาจากงวงการโฆษณาและวงการดีไซน์
งานแบบไหนที่ช่างภาพสตรีทน่าจะทำได้?
เช่น งานด้านโฆษณา , งานด้านดีไซน์ , งานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ , งานด้านโซเชี่ยลมีเดีย
งานแต่ละอย่างที่กล่าวมานี้ มันก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งคุณจะต้องค้นหา “วิธีการทำงาน” ในแต่ละโปรเจคที่คุณทำได้ ไม่ว่าจะการทำงานกับ อาร์ทไดเรคเตอร์ , ดีไซเนอร์ , ฝ่ายกราฟฟิค แต่คุณจะต้องมั่นใจว่า วิธีการทำงานที่คุณโอเคนั้น มันไม่ได้เป็นกรอบให้คุณไม่สามารถคิดงานในแบบของคุณที่เขาคาดหวังจะได้เห็นเหมือนงานในพอร์ทของคุณ ซึ่งมันจะเป็นเรื่องเลวร้ายมาก ผมเองก็เคยเจอมาก่อนที่เคยโดนชวนให้ทำงานในแบบที่ไม่ใช่สไตล์ของผมเอง ถ้าเกิดคุณถนัดที่จะใช้กล้อง Leica กับเลนส์สักตัวเดินถ่ายไปตามถนน คุณก็อย่าคิดว่าถ้าถ่ายงานโฆษณาแล้วต้องเปลี่ยนไปใช้กล้อง Hasselblad เซนเซอร์ 90mp เพราะพวกเขาจะได้ผลงานที่น่าผิดหวัง เทคนิคส่วนตัวที่คุณถ่ายบนถนน มันคือส่วนหนึ่งของ “บอกความเป็นตัวตน” ของตัวช่างภาพเอง และมันคือความชัดเจนที่เขาจะจ้างคุณ และไม่ต้องสนใจพวกเอเจนซี่โปรดักชั่นที่มัวกังวลแต่เรื่องไฟล์ภาพละเอียดๆ ผมเคยถ่ายภาพเพื่อทำโปสเตอร์ขนาดกว้าง 80 เมตรติดตั้งในพื้นที่ที่จอดรถด้วยกล้อง Canon 5D MKII ของผมมาแล้ว และมันก็ดูดีมากทีเดียว
พื้นฐานของช่างภาพสตรีทอย่างเราๆคือเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งมันทำให้งานของเราตรงกับโจทย์มากกว่าคนอื่น การที่เราคอยเฝ้าเก็บข้อมูลต่างๆเอาไว้ เวลาเจอโจทย์ความต้องการจากบรีฟที่บริษัทดีไซน์อยากได้ มันก็มักจะเข้าทาง ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกสภาพแวดล้อมแบบไหน เราสร้างบางสิ่งที่มีอะไรมากกว่า อย่างเช่น โรงเรียน , ธนาคาร , ออฟฟิศ ซึ่งพวกเขาก็พร้อมจะจ้างคุณ ผมเคยใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปกับการถ่ายเบื้องหลังมาหลายปี ทั้งในอาร์ท แกลอรี่ , สวนสัตว์ , โรงเรียนสอนดนตรี หรือ ทีมยิมนาสติก , สนามบิน
ส่ิงที่ท้าทายกว่าคือเมื่อต้องทำงานให้กับเอเจนซี่โฆษณา เพราะมันไม่ได้เป็นงานที่น่าสนใจที่เกิดจากไอเดียของคุณก่อน ในทางกลับกันคุณจะต้องใช้ไอเดียที่มาจากทีมครีเอทีฟไปถ่ายภาพออกมา ปกติแล้ว อาร์ตไดเรคเตอร์ , ก็อปปี้ไรท์เตอร์ จะถูกควบคุมงานโดย ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ ซึ่งจะมาพร้อมคอนเซปว่าเขาต้องการให้ทำอะไร เมื่อไหร่ และเมื่อฝ่ายจัดซื้องาน ต้องการคุณ ก็เพราะเขาต้องการจ้างสไตล์งานแบบคุณ ไม่ใช่จ้างมาเพื่อแก้การปัญหา คุณจะได้รับบรีฟงานที่จะทำ และถ้าคุณได้งานนั้น คุณจะต้องไปเข้าประชุมกับทีมเพื่อถกเถียงกัน ซึ่งมันก็จะตามมาด้วยขั้นตอนมากมาย การเคสติ้ง หาสถานที่ถ่ายทำ ฯลฯ ซึ่งลูกค้าของเอเจนซี่จะต้องโอเคมาก่อนตั้งแต่ขั้นตอนพรีโปรดักชั่น ก่อนจะมีการถ่ายทำจริง ขั้นตอนการถ่ายโฆษณานั้น ตอนวันถ่ายจริง จริงๆแล้วมักจะเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุดเพราะทุกอย่างมันจะถูกเตรียมและถกกันจนจบมาแล้วก่อนหลายสัปดาห์
ส่ิงที่ท้าทายที่สุดในวันที่ถ่ายคือ การถ่ายทำจริงๆ ในแบบ Snap Shot ให้ได้ภาพที่สวยงามได้อย่างที่คุณถ่ายในพอร์ทงานของคุณเอง ซึ่งคราวนี้มันมีทั้งตัวนางแบบนายแบบ และทีมงานที่รายล้อมกว่า 20 ชีวิตคอยดูอยู่ด้วย
ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมาย
มีหลายๆคนมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการใช้ภาพสตรีทในเชิงพานิชย์ และถูกยับยั้งงานไป ซึ่งคุณจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย และแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศก็มีตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันออกไปด้วย แต่หลักๆเลยมีอยู่สองกฏเหล็กที่ต้องระวัง
- คุณจะต้องไม่ใช้ภาพที่สื่อไปในทางพยายามแทรกสินค้าเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตในภาพนั้นๆ
- คุณจะต้องไม่ใช้ภาพไปในทางที่บิดเบือนหรือให้ข้อมูลผิดๆในภาพนั้นๆ
ลักษณะนี้มันค่อนข้างจะเทาๆในการอธิบาย ผมเคยถ่ายภาพสตรีทเพื่องานปริ๊นท์ของบริษัทใหญ่ซึ่งใช้เฉพาะงานภายในบริษัท และไม่ได้ปรากฏในสถานที่ทั่วไป ผมถ่ายภาพเผื่อเอาไว้ที่เคยใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตบุคคลในภาพก่อน แต่ภาพนั้นก็ไม่ได้สื่อว่าบุคคลในภาพ เกี่ยวข้องกับการพยายามโปรโมตสินค้าแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะแค่เป็นส่วนประกอบในไอเดีย ภาพถ่ายเหล่านั้นควรจะเป็นแค่ลักษณะดูทั่วๆไป ไม่ควรระบุตัวตนใครเป็นพิเศษ คุณจะพบว่า มีลูกค้าและเอเจนซี่ที่จะนอยด์กับเรื่องเทาๆแบบนี้ มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งในอเมริกา พวกเขาค่อนข้างจะนอยด์เอามากๆ

อย่างนึงที่ต้องจำเอาไว้ว่า เอเจนซี่โฆษณาและดีไซเนอร์ ไม่ได้แคร์กับว่าภาพที่จ้างคุณเป็นการ Candid พวกเขาจ้างคุณเพราะสไตล์ในการถ่ายสตรีทของคุณนั่นแหล่ะ ไม่ว่าจะ จังหวะ , อารมณ์ขัน ฯลฯ มันเป็นสิ่งที่พวกเราเท่านั้นที่เดินไปตามท้องถนนในแต่ละวันเพื่อมองหาเรื่องเด็ดๆและจังหวะที่มันจะไม่เกิดซ้ำแล้ว ซึ่งภาพมันจะบอกเล่าอย่างตรงมาตรงไป นี่คือประเด็นสำคัญมากกว่า การทำงานเพื่อการพานิชย์อย่างช่างภาพสตรีท คุณจะมองหาอะไรที่ทำเงินให้คุณได้ด้วย ไม่ใช่ถ่ายในแบบสตรีทแบบที่เราเคยถ่ายๆกัน
สร้างให้มันดูสมจริง
ช่างภาพสตรีทอย่างเราๆ เราใช้เวลาในการเฝ้าดูชีวิตที่ดำเนินไป และพวกเรารับรู้ได้ไวต่อภาพที่ดูจัดฉาก หรือความเข้าใจผิดๆที่ทำให้คนทั่วๆพยายามทำภาพโฆษณาให้มันดูสมจริง ผมเคยพยายามพัฒนาวิธีการทำงานมาหลายปีที่ทำให้ผมเป็นคนคอยสังเกตเรื่องต่างๆบนท้องถนน ผมไม่สามารถจะเป็นผู้กำกับการแสดงได้หรอกนะ แต่หลายๆครั้ง ผมมักจะเข้าไปช่วยอาร์ท ไดเรคเตอร์ , ผู้ช่วยผม , ผู้กำกับละครเวทีซึ่งถูกจ้างพิเศษเพื่อดูบทเหล่านี้ ซึ่งนี่มีประโยชน์อย่างมากเวลาที่มีคนมากๆอยู่ในภาพๆหนึ่ง เวลาที่ผมได้รับการจ้างงานถ่ายโฆษณาใหญ่ๆ ผมจะชอบออกไปพร้อมกล้องเล็กๆ ลองสังเกต ดูเหตุการณ์ที่อยากจะได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมจะคอยดูไปเรื่อยๆแล้วเลือกจังหวะเหตุการณ์แบบที่ผมถ่ายบนท้องถนน
อีกวิธีที่จะช่วยให้งานง่ายขึ้นคือการเริ่มเตรียมงานแต่เนิ่นๆในขั้นตอนที่คุยกับอาร์ท ไดเรคเตอร์ ให้สร้างเหตุการณ์ในแบบที่คุณไปสังเกตมา ‘เรื่องโกหกที่ดีที่สุดคือเรื่องที่ถูกทำให้ใกล้เคียงเรื่องจริงที่สุด’ ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ผมสร้างในงานโฆษณา การทำงานที่นิวยอร์คกับทาง Ogilvys ซึ่งมี Michael Pattison เป็นอาร์ท ไดเรคเตอร์ ในโฆษณาของ IBM ผมใช้เวลาอยู่หลายวันกับเขา มองหาโลเคชั่นแล้วก็ลองถ่าย Snap Shot บนถนนซึ่งเป็นต้นแบบของชอทที่จะถ่ายกันในวันจริงกับนางแบบนายแบบไปด้วย นี่เป็นการลองทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะ Michael เองก็ให้อิสระในสิ่งที่ผมทำได้ดี ในวันที่ถ่ายจริงผมเห็นลูกโป่งอยู่ด้านนอกบาร์กับผู้ชายอีกสองคนยืนอยู่หลังลูกโป่งนั่น ผมชอบเลย ผมจับเอานายแบบไปยืนสร้างเหตุการณ์ในแบบที่ผมเห็นนั่น ซึ่งท้ายสุดแล้วมันกลายเป็นงานตัวจริงที่ทำสำเร็จออกมา
มันยากที่จะเจออะไรแบบนี้ การให้ความไว้วางใจและอิสระในการทำงานจากเอเจนซี่ แต่มันจะนำไปสู่งานที่เยี่ยมๆเสมอ


บางครั้งเอเจนซี่โฆษณาจะจ้างคุณ เพราะวิธีของคุณที่ทำงานกับคนทั่วไปได้ และทำให้ทุกอย่างมันดูเป็นธรรมชาติแม้ว่าจะเป็นการทำงานในสตูดิโอก็ตาม ผมเคยถูกจ้างให้ถ่ายโฆษณาสนามบินฮีทโทรว์ในลอนดอน อารมณ์ประมาณการได้กลับมาเจอกันใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะแคสได้นักแสดงที่เป็นคู่รักกันจริงๆที่สามารถกอด จูบกันได้อย่างสะดวกใจ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในการถ่ายในสตูดิโอตอนนั้น ก็ทำให้งานออกมาเป็นโปสเตอร์โฆษณาที่ดูดีเป็นธรรมชาติทีเดียว

แนวทางใหม่ๆ การพัฒนาใหม่ๆของโฆษณาที่น่าสนใจต่อช่างภาพสตรีทคือการใช้ โซเชี่ยล มีเดีย มีงานจ้างอยู่หลายงานที่ผมต้องเดินทางไปด้วย ถ่ายไปด้วย ซึ่งผมจะอัพโหลด โพสลงในเฟสบุ๊คและทวีตเตอร์ ถ้าคุณมีฐานของโซเชียลที่ดี คุณก็มีโอกาสจะได้งานพอๆกับการสร้างพอร์ทงานของคุณเอง ความสามารถในการถ่ายภาพสตรีทนั้น ค่อนข้างเหมาะกับการทำงานที่รวดเร็ว ถ่ายทำชอตยากๆ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งชาวสตรีทมักจะรู้จักที่จะใช้ออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการแชร์ หรือกดไลก์ ผมเดินทางไปรอบโลกด้วยกล้องมือถือ Samsung ระหว่างนั้นผมกำลังประกวดงานของ Barclays และยังต้องตามงานโอลิมปิกของ Nature Valley ไปทั่วอังกฤษ ซึ่งหลักๆคือสำหรับออนไลน์และบนมือถือ


รอบคอบเมื่อต้องถ่ายงานที่เป็นงานจ้าง
เมื่อคุณได้รับการจ้าง มันสำคัญมากที่ต้องไปพบปะกับอาร์ท ไดเรคเตอร์ หรือ ดีไซน์เนอร์ และจะต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่าอะไรบ้างที่จะไปเติมเต็มในงานของคุณ ไม่ว่าจะอารมณ์ขัน,ดราม่า,การวางตำแหน่งกราฟฟิค หรือการจัดระเบียบความยุ่งเหยิงทั้งหลาย หรือการใช้แสงและสี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณพยายามให้พวกเขาทำออกมาได้อารมณ์อย่างที่คิดไว้หลังจากที่มีการถ่ายทำแล้ว
เมื่อคุณทำงานให้กับเอเจนซี่โฆษณาหรือบริษัทดีไซน์ทั้งหลาย คุณจะต้องร่วมกับคนหลากหลายในแต่ละโปรเจค รวมไปถึงลูกค้าที่เป็นแบรนด์สินค้าด้วย มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานกับคนไม่กี่คน เพราะฉะนั้นคุณจะต้องรู้ว่าใครที่คุณจะต้องเข้าหา ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั่นก็คือ อาร์ท ไดเรคเตอร์ แต่บางทีมันก็มีคนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับงานอีกมากมายอย่าง ฝ่ายจัดซื้อ , ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ , คนดูแลลูกค้า ฯลฯ คุณต้องคอยรักษากลุ่มคนที่คุณต้องสื่อสารด้วย โดยการสื่อสารผ่านคนที่คุณต้องคุยด้วยเป็นคนแรกคือ อาร์ท ไดเรคเตอร์ เมื่อจบงานในแต่ละวัน แต่ละคนก็จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปในหน้าที่ของตัวเอง แต่ความคิดเห็นที่สำคัญที่สุดอาร์ท ไดเรคเตอร์ ถ้าเขาแฮปปี้ คุณก็ถึงจะเรียกเก็บเงินได้
ต้องแน่ใจว่าลูกค้าของคุณรู้ว่าจะได้อะไรจากงานแบบสตรีท พวกเราจะไม่ทำงานในแบบช่างภาพแนวอื่นๆที่พวกเขาเคยจ้างมา จังหวะเหตุการณ์ที่น่าทึ่ง เราจะไม่ใช่แค่เซ็ตฉาก จัดไฟ ถ่ายแล้วก็ปิดจ๊อบกลับบ้าน คุณจะต้องทำให้แน่ใจว่าพอร์ทงานของคุณที่ทำมาหลายปีทำให้คุณคือช่างภาพสตรีทที่ดีแต่ไม่ใช่นักมายากลที่เสกอะไรก็ได้ ถ้าเอเจนซี่เข้าใจตรงนี้ และพวกเขาแน่ใจว่าต้องมีเวลาพอให้คุณได้ทำงาน คุณสามารถจะถ่ายพอร์เทรทได้อย่างรวดเร็วแต่จังหวะเหตุการณ์ที่เตรียมไว้มันต้องใช้ความอดทนรอมากพอ ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทำงานเฉพาะในโลเคชั่นเดียว
คุณอาจจะต้องคิดค่าใช้จ่ายให้ดีๆ ให้คุ้มพอกับเวลาที่คุณต้องใช้ในการถ่ายแบบนี้ ผมมักจะคิดค่างานจากจำนวนภาพที่ลูกค้าต้องการ ค่าตัวสำหรับทั้งโปรเจค และจะตกลงรับงานเมื่อบรีฟงานได้รับการเคาะอย่างเรียบร้อยแล้ว เหล่านี้จะทำให้ครอบคลุมเผื่อในเวลาที่ดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ หรือเผื่อถ้าอาร์ท ไดเรคเตอร์ , ดีไซน์เนอร์ ไม่ดูแลงานให้เรียบร้อยจนจบ
สรุป
ในงานเชิงพานิชย์นั้นยังมีสำหรับช่างภาพสตรีทที่ยังเรียนรู้และพัฒนาด้วยสไตล์การถ่ายแบบสตรีท สามารถสร้างงานโฆษณาเยี่ยมๆ ผมบอกได้ว่าตลาดจะกลับมามีความต้องการแนวทางนี้ เมื่อคนเบื่อกับงานที่ดูตกแต่งเกินไป งานแบบสตรีทเป็นงานที่ขายไอเดียและตกแต่งน้อยกว่า จะกลายเป็นมีเสน่ห์หอมหวานในงานโฆษณา